ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ญี่ปุ่นเร่งหามาตรการรองรับ ‘นักท่องเที่ยวล้นภูเขาไฟฟูจิ’


ภาพภูเขาไฟฟูจิ จากอ่าวซากามิ กรุงโตเกียว
ภาพภูเขาไฟฟูจิ จากอ่าวซากามิ กรุงโตเกียว

ภูเขาไฟฟูจิที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ตลอดกาลของประเทศญี่ปุ่น ด้วยรูปทรงของภูเขาที่มีความสมมาตรและเป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติ เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกมาเยี่ยมเยือนเสมอมา

แต่หลังทางการเปิดพรมแดนประเทศอีกครั้งมาไม่นาน เจ้าหน้าที่ชี้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวบนยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศพบปัญหามากมาย ทั้งยังก่อให้เกิดความเครียดต่าง ๆ เช่น การต่อแถวยาวของผู้คน ขยะล้นถัง ไปจนถึงห้องน้ำที่ใช้งานไม่ได้ เป็นต้น

Masatake Isumi, Yamanashi Prefecture government official
Masatake Isumi, Yamanashi Prefecture government official

มาซาตาเกะ อิซุมิ เจ้าหน้าที่จากจังหวัดยามานาชิ หนึ่งในสองจังหวัดอันเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิ กล่าวว่า “ผู้คนจำนวนมากเดินทางมาเยี่ยมชมภูเขาไฟฟูจิและเราก็รู้สึกซาบซึ้ง แต่มันนำไปสู่ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมืองที่มาพร้อมกับขยะและปัญหาเกี่ยวกับห้องน้ำ อันเป็นผลมาจากผู้คนจำนวนมาก” และทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่อิซุมิสรุปว่า ภาวะปัญหาต่าง ๆ เข้าสู่ขั้นวิกฤติแล้ว

ทั้งนี้ หลังจาก ภูเขาไฟฟูจิได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อทศวรรษที่แล้ว แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งนี้ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น

JAPAN-MTFUJI/
JAPAN-MTFUJI/

และแม้การขึ้นทะเบียนดังกล่าวมาพร้อมกับเงื่อนไขที่ว่า ญี่ปุ่นจะต้องลดความแออัดของนักท่องเที่ยวและลดผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากเหล่าผู้เยี่ยมชม สถานการณ์โดยรวมกลับดูเหมือนจะยิ่งย่ำแย่ลง

ในฤดูร้อนปีนี้ สถานีแวะชมจุดใหญ่ที่สุดบนภูเขาไฟฟูจิ มีจำนวนผู้เยี่ยมชมถึง 4,000,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับสถิติปี 2013

และเมื่อตรวจสอบเนื้อหาเกี่ยวกับภูเขาไฟฟูจิบนโซเชียลมีเดียก็พบว่าเต็มไปด้วยโพสต์ที่สะท้อนถึงปัญหาห้องน้ำสกปรก และภาพของกองขยะตามเส้นทางเดินป่า ซึ่งผู้ดูแลพื้นที่เปิดเผยว่า กำลังมีการเร่งพิจารณามาตรการที่เข้มข้นเพื่อใช้ในการบรรเทาปัญหาต่างๆ แล้ว

"No Trash Bin" sign on Mt. Fuji, Japan
"No Trash Bin" sign on Mt. Fuji, Japan

เจ้าหน้าที่อิซุมิ อธิบายว่า สาเหตุใหญ่ที่สุดของปัญหาก็คือ เหล่านักท่องเที่ยวสามารถขับรถยนต์ไปถึงสถานีที่ 5 ของภูเขาไฟฟูจิได้อย่างง่ายดาย และกรณีนี้ควรมีการควบคุมให้ได้ แต่เนื่องจาก ถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางสายฟูจิซูบารุเป็นถนนประจำจังหวัดยามานาชิ การควบคุมจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการสร้างรถรางขึ้นภูเขาแทนที่ถนนในปัจจุบัน

Fuji Subaru line to Mt. Fuji, Japan
Fuji Subaru line to Mt. Fuji, Japan

อีกประเด็นที่มาของปัญหาก็คือ ความนิยมในกิจกรรมปืนเขาอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่มีการพักแรมกลางทาง หรือที่เรียกกันว่า “Bullet Climbing” โดยเหล่านักปืนเขาจะพยายามขึ้นสู่ยอดภูเขาไฟฟูจิให้ทันในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและเดินทางลงเขาภายในวันเดียวกัน

รายงานข่าวระบุว่า วิธีการปืนเขาลักษณะนี้มีความเสี่ยงมากและส่งผลให้ทีมกู้ภัยต้องให้ความช่วยเหลือมากขึ้น โดยมีคำร้องขอความช่วยเหลือจากทีมกู้ภัยเพิ่มขึ้น 50% จากปี 2022 และเฉพาะในปีนี้มีจำนวนมากถึง 60 ครั้งไปแล้ว ซึ่งหนึ่งในสี่ของคำร้องเหล่านี้มาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

หากปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการดูแลด้วยมาตรการที่เหมาะสม ผู้เกี่ยวข้องแสดงความเป็นห่วงว่า ในอนาคตภูเขาไฟฟูจิ อาจไม่ได้รับความนิยมจากเหล่านักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกต่อไป

นอกจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว นักท่องเที่ยวเองก็เห็นด้วยว่า ควรมีการดำเนินการบางอย่างเพื่อควบคุมสถานการณ์นี้

จุน ชิมาซากิ พนักงานบริษัทชาวญี่ปุ่นที่มาเยี่ยมชมภูเขาไฟฟูจิ
จุน ชิมาซากิ พนักงานบริษัทชาวญี่ปุ่นที่มาเยี่ยมชมภูเขาไฟฟูจิ

จุน ชิมาซากิ พนักงานบริษัทชาวญี่ปุ่นที่มาเยี่ยมชมภูเขาไฟฟูจิ กล่าวว่า การออกมาตรการจำกัดบางอย่างมาใช้งานเป็นสิ่งที่จำเป็น และวิธีที่สมเหตุสมผลที่สุดก็อาจเป็นการเก็บเงินค่าเข้าเข้าพื้นที่ซึ่งน่าจะช่วยควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวได้ดี

Ewan McQueen, student from Scotland and visitor to Mt. Fuji
Ewan McQueen, student from Scotland and visitor to Mt. Fuji

ส่วน ยวน แม็คควีน นักศึกษาชาวสก็อตแลนด์กล่าวว่า หลายแห่งในยุโรปมีการเรียกเก็บสิ่งที่เรียกว่าเป็น ภาษีนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลดี และนักท่องเที่ยวที่มาจากซีกโลกตะวันตกก็คงไม่มีปัญหา หากต้องควักเงินจ่ายภาษีที่ว่านี้

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG