ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความพร้อมของญี่ปุ่นในการรับมือภัยพิบัติและโครงการสร้างชุมชนแห่งอนาคต


รายงานการศึกษาชิ้นใหม่ในญี่ปุ่นเปิดเผยว่าระบบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นคือสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผลกระทบของเหตุการณ์ภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าเมื่อปีที่แล้วยิ่งเลวร้ายรุนแรงขึ้น และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกหลายแห่งในญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่อาจเผชิญปัญหาอย่างเดียวกัน

รายงานความหนา 420 หน้าที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อนระบุว่า วิกฤตการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าเวลาร้ายกว่าที่คิดไว้เพราะเตาปฏิกรณ์ปรมาณูและบ่อกักเก็บเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วอยู่ใกล้กันเกินไป ซึ่งปัญหาเดียวกันนี้เกิดขึ้นตามโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกหลายแห่งในญี่ปุ่น รายงานชิ้นนี้เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ประชาชนราว 300 คนและจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จนได้ข้อสรุปว่าญี่ปุ่นยังไม่พร้อมสำหรับการรับมือภัยพิบัติในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว


คุณ Koichi Kitazawa ประธานคณะกรรมการผู้จัดทำรายงานและอดีตผอ.สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ระบุว่าญี่ปุ่นยังไม่พร้อมในเรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติ รัฐบาลและภาคธุรกิจยังมีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันและความปลอดภัย โดยหนึ่งในคณะกรรมการคือคุณ Tetsuya Endo อดีตประธานกรรมการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศชี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งเน้นแต่ในด้านการป้องกันไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกมากกว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น

คุณ Endo ชี้ว่าปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดความไม่เชื่อใจกันระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า ตลอดจนความไม่เชื่อใจกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายในรัฐบาลญี่ปุ่นกับบริษัทการไฟฟ้ากรุงโตเกียวหรือ TEPCO ผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า และผู้ที่ทำงานอยู่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว

ภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้วทำให้หลายชุมชนตามแนวชายฝั่งของญี่ปุ่นถูกคลื่นยักษ์กลืนหายไป รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีแผนสร้างเมืองแบบใหม่ขึ้นมาภายใต้โครงการเมืองแห่งอนาคต โดยเน้นให้ชุมชนต่างๆในเมืองที่เกิดใหม่เหล่านั้นใช้พลังงานอย่างประหยัดจากแหล่งพลังงานสะอาดและไม่เป็นอันตราย เช่นพลังงานจากแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม

คุณ Shuzo Murakami วิศวกรและสถาปนิกชาวญี่ปุ่นระบุว่า เมืองแห่งอนาคตนี้ออกแบบเพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตและกักเก็บไฟฟ้าไว้ใช้เองภายในบ้าน เป็นการประหยัดพลังงานพร้อมๆกับไปกับการมุ่งเน้นที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญของโครงการที่ว่านี้คือเงินลงทุน โดยเฉพาะในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังต้องการเงินทุนเพื่อฟื้นฟูประเทศ

คุณ Richard Jones เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศเน้นย้ำว่า ความจำเป็นที่สุดในตอนนี้คือเร่งฟื้นฟูชุมชนที่ถูกกลืนหายไปเมื่อปีที่แล้วให้กลับสู่สภาพเดิมเร็วที่สุด โดยรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ควรพยายามคิดค้นหรือออกแบบเมืองใหม่ๆที่ใช้เงินทุนมาก แต่สามารถศึกษาตัวอย่างจากชุมชนแห่งอนาคตที่มีอยู่แล้วในหลายประเทศ เช่นเดนมาร์ก อังกฤษ เยอรมนีและสวีเดน

XS
SM
MD
LG