ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐกับจีนกำลังเร่งกระชับสัมพันธ์ทางทหารกับอินโดนีเซียในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในทะเลจีนใต้


เส้นทางเดินเรือสำคัญๆหลายเส้นในเอเชียต้องผ่านอินโดนีเซียซึ่งมีอาณาเขตประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยมากกว่า 17,000 เกาะ การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์ต่อปี

เมื่อเดือน มิ.ย ปีที่แล้ว รมต.กลาโหมสหรัฐ Leon Panetta ประกาศว่าสหรัฐจะพยายามเพิ่มความสัมพันธ์หลายด้านกับอินโดนีเซีย รวมถึงการปกป้องน่านน้ำแถบนี้ ตามยุทธศาสตร์การทหารใหม่ของสหรัฐซึ่งมีเอเชียเป็นแกนกลาง เป้าหมายเพื่อร่วมมือกับพันธมิตรในเอเชียในการรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ

นาวาเอก Adrian Jansen แห่งกองทัพเรือสหรัฐผู้ประจำอยู่ที่สถานฑูตสหรัฐในกรุงจาการ์ต้า กล่าวต่อประชาชนในสัปดาห์นี้ว่า เวลานี้อินโดนีเซียและสหรัฐกำลังเผชิญกับภัยคุกคามลักษณะเดียวกันคือ ความขัดแย้งของประเทศต่างๆในทะเลจีนใต้ ภัยคุกคามจากโจรสลัด ภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย และการแพร่กระจายของอาวุธอำนาจทำลายล้างสูง

ด้านนักวิเคราะห์เตือนว่าสหรัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนภัยคุกคามเหล่านั้นให้กลายเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือใหม่ๆกับจีน ไม่เช่นนั้นการที่จีนเห็นว่าอเมริกากำลังเข้าไปแทรกแซงกิจการในเอเชียมากขึ้น จะยิ่งเป็นการสร้างความขัดแย้งในภูมิภาคนี้

คุณ Collin Koh นักวิจัยที่ Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ระบุว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่มีเอเชียเป็นแกนกลางนั้น เห็นได้ว่ามีเป้าหมายหลักอยู่ที่การควบคุมหรือพยายามจำกัดอิทธิพลของจีนที่กำลังขยายตัว

ในขณะเดียวกัน จีนเองก็กำลังเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าและการทหารกับอินโดนีเซียเช่นกัน ซึ่งรวมถึงข้อตกลงซื้อขายอาวุธ เช่นจรวด C-705 ที่ใช้ติดตั้งกับเรือรบของอินโดนีเซีย นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีแผนลงนามในข้อตกลงด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งจะทำให้อินโดนีเซียสมารถผลิตจรวดดังกล่าวได้เอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ของสถานฑูตจีนในกรุงจาการ์ต้า Hao Yinbiao กล่าวยืนยันว่า ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับอินโดนีเซียนั้น มิได้มีเป้าหมายเพื่อคุกคามประเทศอื่นๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ และยิ่งมิได้เป็นการตอบโต้ต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐในเอเชีย

เจ้าหน้าที่สถานฑูตจีนผู้นี้บอกว่า ประเทศที่กำลังเติบโตรวดเร็วอย่างเช่นจีนนั้น มักถูกมองว่ากำลังก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจต่างๆ แต่จีนมิได้คิดเช่นนั้น และมิได้คิดแข่งขันอำนาจกับสหรัฐแต่อย่างใด

สำหรับอินโดนีเซียเอง เนื่องจากมิได้เป็นหนึ่งในประเทศที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ที่ผ่านมาจึงรับบทบาทคนกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งมากกว่า
XS
SM
MD
LG