ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อินโดนีเซียสั่งห้ามถางป่า 2 ปีเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าและลดปัญหาภาวะโลกร้อน


อินโดนีเซียสั่งห้ามถางป่า 2 ปีเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าและลดปัญหาภาวะโลกร้อน
อินโดนีเซียสั่งห้ามถางป่า 2 ปีเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าและลดปัญหาภาวะโลกร้อน

รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังใช้มาตรการงดถางป่าชั่วคราว เพื่อแลกกับเงินทุนสนับสนุนจากนอร์เวย์มูลค่า 1 พันล้านดอลล่าร์ซึ่งจะนำไปใช้ในโครงการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าและทำลายผืนดิน ซึ่งบรรดาองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและบริษัทธุรกิจต่างยินดีกับมาตรการที่ว่านี้

นับตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า รัฐบาลอินโดนีเซียจะนำมาตรการห้ามถางป่าไม้และป่าพรุมาบังคับใช้เป็นเวลา 2 ปี นั่นหมายความว่าธุรกิจการทำไม้ การผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษ ตลอดจนอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจะไม่สามารถขยายพื้นที่ใหม่ๆเพื่อปลูกพืชหรือต้นไม้ที่ใช้เป็นวัตถุดิบการผลิตได้

ในตอนแรกนั้น มาตรการนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจส่งผลให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินหรือส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซีย แต่ถึงตอนนี้บรรดาบริษัทธุรกิจและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่างเชื่อว่า ธุรกิจทำไม้จะยังคงขยายพื้นที่ได้ภายในที่ดินที่มีใบอนุญาตอยู่แล้ว และยังสามารถขยายเข้าไปในที่ดินที่เสื่อมสภาพแล้วได้อีกด้วย

ธุรกิจทำไม้และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มคือสาเหตุที่ทำให้เกิดการทำลายป่าไม้ในอินโดนีเซียหลายล้านไร่ในแต่ละปี บรรดาองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเชื่อว่ามาตรการห้ามถางป่า 2 ปีคือโอกาสอันดีที่บริษัทต่างๆเหล่านั้นจะสามารถพัฒนาการบริหารจัดการเรื่องป่าไม้และที่ดินได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของตนเอง

คุณ Bustar Maitar แห่งกลุ่ม Greenpeace ระบุว่าปัจจุบันประสิทธิภาพทางการผลิตน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียยังเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียอยู่มาก อย่างไรก็ตาม องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงคือการกำหนดกฎหมายเรื่องการครอบครองที่ดินในเขตป่าให้ชัดเจน รวมถึงการให้คำจำกัดความอย่างเป็นทางการของคำว่าที่ดินเสื่อมสภาพว่าหมายถึงที่ดินส่วนใดบ้าง

อินโดนีเซียให้คำมั่นว่าจะลดปริมาณก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจกลงให้ได้ 26% ภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยการจะบรรลุเป้าหมายได้คือการปกป้องป่าไม้และป่าพรุที่เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไม่ให้ถูกทำลาย ซึ่งนั่นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและเอกชน ก่อนหน้านี้กลุ่ม Greenpeace กล่าวหาบริษัท Sinar Mas ผู้ผลิตกระดาษและน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของอินโดนีเซียว่าบุกรุกพื้นที่ป่าไม้และป่าพรุเพื่อถางที่ดินทำการเกษตร ส่งผลให้บริษัทต่างชาติหลายบริษัทคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ของ Sinar Mas

คุณ Bustar Maitar กล่าวว่ากลุ่ม Greenpeace ต้องการให้รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่มองในด้านของผลประโยชน์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว เช่นในกรณีของบริษัท Sinar Mas และอีกหลายบริษัทที่กระทำอย่างเดียวกัน

ทางด้านตัวแทนฝ่ายธุรกิจ คุณ Aida Greenbury แห่งบริษัท Asia Pulp and Paper บริษัทลูกของ Sinar Mas เห็นว่ามาตรการห้ามถางป่า 2 ปีนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับภาคธุรกิจเองเช่นกัน คุณ Aida กล่าวว่ามาตรการนี้ช่วยให้ภาคธุรกิจมีเวลาพักเพื่อทบทวนและวิเคราะห์แนวทางการทำธุรกิจให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของรัฐบาล และพร้อมที่จะกลับมาใหม่พร้อมแนวทางใหม่ๆหรือระบบใหม่ๆ

ปัจจุบันอินโดนีเซียคือประเทศผู้ผลิตก๊าซที่เป็นสาเหตุของปรากฎการณ์เรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากจีนและสหรัฐ ประชาคมโลกต่างชื่นชมที่อินโดนีเซียพยายามจะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนลงให้ได้ อย่างไรก็ตาม การนำมาปฏิบัติในโลกแห่งความจริงยังคงเป็นสิ่งที่ต้องรอดูต่อไป เพราะปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งคืออินโดนีเซียมีพื้นที่ป่าขนาดมหาศาล ซึ่งทำให้ยากต่อการควบคุมดูแล

XS
SM
MD
LG