ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คนอินเดียไม่นิยมใช้ห้องส้วมสาธารณะที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาปลดทุกข์นอกบ้าน


ทางการอินเดียเร่งสร้างห้องน้ำสาธารณะหลายล้านห้องทั่วประเทศเพื่อแก้ปัญหาคนอินเดียราว 600 ล้านที่ไม่มีห้องส้วมใช้และต้องไปปลดทุกข์นอกบ้าน

please wait

No media source currently available

0:00 0:05:15 0:00
Direct link

ในสลัม Geeta Colony สลัมที่แออัดแห่งหนึ่งในกรุงนิวเดลลี เมืองหลวงของอินเดีย นางมีนา เทวี อายุ 45 ปีกล่าวว่าเธอยอมที่จะเดินไปหาจุดระบายทุกข์ในพื้นที่โล่งๆ ไม่ไกลจากบ้านของตัวเอง แทนที่จะต้องไปยืนเข้าคิวรอใช้ห้องน้ำสาธารณะแสนสกปรกของชุมชนในแถวที่ยาวเยียด

นางมีนาบอกว่าห้องน้ำชุมชมเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มากและไม่มีระบบสุขาภิบาล นอกจากนี้ยังปิดไม่ให้ใช้งานในช่วงกลางคืน

ตั้งเเต่ทางการอินเดียเริ่มโครงการสร้างห้องน้ำสาธารณะมาราวปีกว่า มีการสร้างห้องน้ำขึ้นเเล้ว 9 ล้านห้อง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสุขาภิบาลชี้ว่าการรณรงค์นี้ไม่ได้ผล เนื่องจากห้องน้ำจำนวนมากที่สร้างขึ้นไม่มีคนไปใช้ เนื่องจากคนอินเดียยังติดยึดกับวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ต่อต้านการใช้ห้องน้ำ

คุณเรนู โคสลา แห่ง Center for Regional and Urban Excellence (CURE) ซึ่งทำงานด้านสุขาภิบาลในสลัมในเมืองใหญ่ ชี้ว่าอุปสรรคสำคัญที่ประสบคือการชักชวนให้คนอินเดียใช้ส้วมที่กำลังเร่งสร้าง ห้องน้ำส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นใช้ระบบที่เรียกว่าส้วมหลุมเดียว

เธอกล่าวว่าเมื่อหลุมส้วมเต็ม ก็จะมีการดูดออก ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่าย นี่เป็นเหตุให้คนลังเลที่จะใช้ห้องน้ำที่สร้างด้วยระบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นในหมู่บ้านหรือในเขตเมือง อย่างไรก็ดี คุณโคสลาชี้ว่า ชาวบ้านเห็นประโยชน์หลายอย่างของการถ่ายทุกข์นอกห้องน้ำ นั่นก็คือไม่ต้องเข้าคิวยืนรอในแถวที่ยาวเยียด และจะไปถ่ายทุกข์เมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบหรือตามสะดวก

Indian school children participate in a rally to mark World Toilet Day in Hyderabad, India,.
Indian school children participate in a rally to mark World Toilet Day in Hyderabad, India,.


รัฐบาลอินเดียได้เริ่มต้นการรณรงค์เพื่อกระตุ้นความตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับผลเสียของการถ่ายทุกข์ในที่โล่ง ซึ่งองค์การอนามัยโลกชี้ว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้คนติดเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคท้องร่วง ไทฟอยด์ และการติดเชื้อพยาธิชนิดต่างๆ

การโฆษณาทางโทรทัศน์ที่ติดหู ได้เร่งเร้าให้ผู้หญิงอินเดียในชนบทต่อต้านการแต่งงานกับคนในครอบครัวที่บ้านเรือนไม่มีห้องน้ำ โดยเน้นประโยชน์ทางสุขภาพที่ผู้หญิงจะได้รับจากการมีห้องน้ำในครัวเรือน

ตลอดจนช่วยด้านความปลอดภัยของผู้หญิงด้วยเพราะไม่ต้องเดินออกไปนอกบ้านเพื่อถ่ายทุกข์ในพงหญ้าในช่วงกลางคืน

แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการโฆษณารณรงค์นี้จะไม่มีผลอะไร เพราะไม่ตรงกับปัญหาพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ทำให้คนอินเดียลังเลที่จะใช้ห้องน้ำสาธารณะ นั่นก็คือคนอินเดียยังติดยึดในระบบชนชั้นวรรณะที่เก่าแก่ และความเชื่อที่ว่าห้องน้ำในบ้านทำให้บ้านขาดความสะอาดบริสุทธิ์

คุณเเซงกิต้า วิยาส ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Research Institute for Compassionate Economics (RICE) ในกรุงนิวเดลลีกล่าวว่า เเม้ว่าโครงการสร้างห้องน้ำสาธารณะในชุมชนและในสลัมจะได้ผลดีในหลายประเทศกำลังพัฒนา อาทิ บังคลาเทศ

แต่โครงการนี้กลับไม่ได้รับการยอมรับจากคนอินเดีย เพราะเมื่อหลุมส้วมเต็ม จะต้องใช้คนงานขนถ่ายของเสียออกไปด้วยเเรงมือ และงานประเภทนี้คนอินเดียรังเกียจ เพราะงานเก็บกวาดของเสียของมนุษย์เป็นงานดั้งเดิมของคนจากวรรณะที่ต่ำในสังคม

คนจำนวนมากในหมู่บ้านหลายๆ แห่งของคนที่มาจากวรรณะสูงกว่า ก็รังเกียจการสร้างห้องน้ำภายในบ้าน เพราะพวกเขาเชื่อว่าการมีห้องน้ำภายในตัวบ้านจะทำให้บ้านไม่ผุดผ่องพอที่จะใช้เป็นสถานที่บูชาพระเจ้า

อย่างไรก็ตาม โครงการสร้างห้องน้ำประสบความสำเร็จในพื้นที่หลายจุดที่ห้องน้ำสร้างด้วยระบบอื่นที่ไม่ต้องดูดส้วมด้วยแรงคน

An open toilet is seen in a field in Gorba in the eastern Indian state of Chhattisgarh, India, Nov. 16, 2015.
An open toilet is seen in a field in Gorba in the eastern Indian state of Chhattisgarh, India, Nov. 16, 2015.

รายงานชิ้นหนึ่งของหน่วยงาน WaterAid ที่ตีพิมพ์ในวาระ วันส้วมโลก หรือ World Toilet Day เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ชี้ว่าหากคนในอินเดียทุกคนที่ไม่มีห้องน้ำส่วนตัวในบ้าน และต้องเข้าแถวเพื่อใช้ห้องน้ำสาธารณะในชุมชน แถวของคนเหล่านี้จะยาวมากจากโลกไปถึงดวงจันทร์ทีเดียว

ในขณะที่รัฐบาลอินเดียได้รับการยกย่อง ที่มีการตั้งเป้าหมายของการสร้างห้องน้ำให้เพียงพอเพื่อยุติปัญหาคนถ่ายทุกข์นอกบ้านให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2019 คุณโคสลาแห่ง CURE ชี้ว่า รัฐบาลอินเดียจะบรรลุเป้าหมายนี้อย่างแน่นอน หากมีการใช้วิธีแก้ปัญหาทางวิศวกรรมขั้นพื้นฐาน

คุณโสสลากล่าวว่าการสร้างห้องน้ำขึ้นมาเท่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ จำเป็นต้องสร้างระบบสุขาภิบาลขึ้นมาร่วมด้วย

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน )

XS
SM
MD
LG