ลิ้งค์เชื่อมต่อ

IMF เรียกร้องให้ไทยเลิกโครงการจำนำข้าว และหันไปลงทุนในโครงการอื่นๆที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ


กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้ประเทศไทยเลิกโครงการจำนำข้าว ลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่าง และหันไปลงทุนในโครงการอื่นๆที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

นสพ. Wall Street Journal ซึ่งมีรายงานเชิงวิเคราะห์ในเรื่องนี้ อ้างตัวเลขล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์ไทยรายงานไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลประสบการสูญเสียเงินในโครงการจำนำข้าว เป็นมูลค่า 136 พันล้านบาท หรือ 4.3 พันล้านดอลล่าร์ สำหรับปีการเก็บเกี่ยว 2554 – 2555

ส่วนตัวเลขการสูญเสียโดยรวม ตกราวๆ 670 พันล้านบาท หรือ 21.2 พันล้านดอลล่าร์ นับตั้งแต่รัฐบาลไทยเริ่มรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด 35-50% ในปี 2554

รายงานของ IMF กล่าวว่า เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาลจะต้องประสบการสูญเสีย ตราบเท่าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในโครงการดังกล่าว

ในขณะที่รายงานของสำนักข่าว AP ซึ่งอ้างรายงานของ IMF ฉบับเดียวกันนี้ กล่าวว่า โครงการจำนำข้าว รวมทั้งการไม่มีข้อมูลของโครงการเปิดเผยให้เป็นที่ทราบ กำลังบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในการเงินของประเทศไทย

รายงานของ IMF ฉบับนี้เป็นผลของการวิเคราะห์ทบทวนเศรษฐกิจไทยประจำปี โดยเจ้าหน้าที่ของ IMF ในการหารือกับเจ้าหน้าที่ไทย

รายงานของ Wall Street Journal กล่าวต่อไปว่า ความเห็นของ IMF ในเรื่องนี้ สอดคล้องกับคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการที่ให้ความเห็นว่า นโยบายประชานิยมอย่างโครงการจำนำข้าวนี้ อาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถปรับงบประมาณให้สมดุลได้ในปี 2560 และรักษาระดับหนี้สาธารณะไว้ให้ต่ำกว่า 50% ของ GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวม ตามที่ให้คำมั่นไว้ ตัวเลขจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะระบุว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 45.5%

สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน Moody’s เตือนไว้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ความสูญเสียในโครงการจำนำข้าวนี้ อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อความน่าเชื่อถือทางการเงินของประเทศไทยได้ด้วย

และแม้ว่ารัฐบาลจะได้ปรับเปลี่ยนบางส่วนของโครงการ ในเดือนที่แล้ว เช่นลดราคารับซื้อข้าว และจำกัดจำนวนข้าวที่แต่ละครอบครัวจะขายได้ ก็ยังเป็นที่คาดกันว่า รัฐบาลจะต้องใช้จ่ายเงินอีกราวๆ 8.6 พันล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2556 - 2557

เวลานี้ มีข้าวที่รัฐบาลซื้อไปเก็บไว้ 15 ล้านตัน ในขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรสหรัฐ ประมาณว่า ผลผลิตข้าวทั่วโลกสำหรับปี 2556 – 2557 นี้ จะเพิ่มขึ้น 1.7% ซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์

รายงานของ Wall Street Journal อ้างราคาจากองค์การอาหารและการเกษตร (FAO) ที่ระบุว่า ราคาข้าว 5% ของประเทศไทย ยังคงลดลงอยู่ต่อไป ราคาส่งออกในเดือนตุลาคมอยู่ที่เมตริกตันละ 440 ดอลล่าร์ ซึ่งต่ำกว่าราคาปีก่อนหน้านั้น เกือบ 24%

และสมาคมผู้ส่งข้าวออกของไทยรายงานว่า การส่งออกข้าวของประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ รวมทั้งหมดราวๆ 4.63 ล้านตัน ลดลง 1.8% จากปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคาดว่า จะสามารถส่งข้าวออกได้ระหว่าง 7.5 – 8 ล้านตันในปีนี้ โดยมุ่งหน้าดำเนินการขายในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ G-to-G เป็นหลัก ตัวอย่างเช่น การเสนอขายข้าวให้จีนในเดือนที่แล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรี Li Keqiang เยี่ยมเยือนไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสนอขายแบบ G-to-G แล้ว ยังรวมข้อเสนอที่จะแลกข้าวไทยและผลิตผลการเกษตรอื่นๆ กับความช่วยเหลือจากจีนในการพัฒนาข่ายงานการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยไว้ด้วย
XS
SM
MD
LG