ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เปิดโลกการอ่านแบบใหม่ด้วย ‘หนังสือมีชีวิต’ กับ “ห้องสมุดมีชีวิต” ในอเมริกา


หนังสือมีชีวิต ในห้องสมุดมีชีวิต ทางเลือกใหม่ของคนรักการอ่านที่อเมริกา

ห้องสมุดแห่งหนึ่งในรัฐเวอร์จิเนีย มีโครงการการอ่านและค้นคว้าโดยตรง 'หนังสือมีชีวิต' ที่เรียกว่า Human Book มาเป็นทางเลือกใหม่

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:04 0:00
Direct link

ห้องสมุดสาธารณะ กัม สปริง (Gum Spring) ใน เลาน์ดอน เคาท์ตี้ รัฐเวอร์จิเนีย ชานกรุงวอชิงตัน มีบริการพิเศษที่มากกว่าแค่เพียงเข้าไปอ่าน ค้นคว้า หรือยืมหนังสือเหมือนห้องสมุดทั่วไป

ที่นี่มี 'หนังสือมีชีวิต' หรือ 'Human Book' คนตัวเป็นๆ มาคอยตอบคำถาม พูดคุย และเล่าเรื่องให้นักอ่านนักค้นคว้าได้เรียนรู้ เรื่องราวที่พวกเขาสนใจ ในเวลาแต่ละครั้งไม่เกิน 20 นาที

Maimah Karmo เป็นหนึ่งใน Human Book ที่มานั่งตอบคำถามในหนังสือที่เธอเขียนและถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองหลังรอดชีวิตจากโรคมะเร็งทรวงอกเมื่อหลายปีก่อน

เธอบอกถึงแนวคิดของเธอกับนักอ่านที่ให้ความสนใจในหนังสือของเธอว่า คนเราอาจจะยังไม่ทราบถึงความแข็งแกร่งที่แท้จริงของตัวเองจนกว่าจะได้เผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดว่าจะต้องเจอ

นอกจากจะเป็นนักเขียนแล้วนักเขียนจากไลบีเรียนคนนี้ ยังก่อตั้งมูลนิธิ Tiger Lily ที่มุ่งส่งเสริมและให้ความรู้กับผู้หญิงวัยเยาว์ถึงวิธีที่ต้องเผชิญกับโรคมะเร็ง

การได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่เธอเขียน ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ผ่านการบอกเล่าในรูปแบบหนังสือมีชีวิต จึงเป็นวิธีหนึ่งที่เธอประทับใจ เพราะว่าการได้เป็น Human Book นั้น ทำให้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น นอกจากนี้การได้พูดคุยกันก็เหมือนกับการได้เปิดหน้ากระดาษชีวิตและแบ่งปันความรู้สึก ซึ่งสำหรับเธอแล้วสิ่งเหล่านี้น่ามหัศจรรย์มาก

Dennis Fargo นักอ่านที่เดินทางมาห้องสมุดเพื่อได้พูดคุยกับ Human Book บอกว่า การอ่าน 'หนังสือมีชีวิต' ถือเป็นวิธีใหม่ของการเรียนรู้ ที่ทำให้เข้าถึงข้อเท็จจริงต่างได้เร็วขึ้นผ่าน Human Book ตัวเป็นๆ ตรงหน้าที่คอยอธิบายแบบไม่ต้องตีความจากหนังสือซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มหาศาลมากกว่าเพียงการเปิดหน้าหนังสืออ่าน

หนังสือมีชีวิต ที่คุณเดนนิส ให้ความสนใจก็คือเรื่องราวของ Bobbi Carducci ผู้เขียนหนังสือที่ถ่ายทอดคำสารภาพในบันทึกส่วนตัวถึงความไม่สมบูรณ์แบบในประสบการณ์ระหว่างทำหน้าที่ผู้ดูแลพ่อสามีที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมในช่วง 7 ปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

เธอบอกว่า เกือบทุกคนที่มาคุยมักจะมีประสบการณ์ดูแลผู้สูงอายุ หรือ มีคนรู้จักที่ทำเรื่องนี้อยู่ ซึ่งแน่นอนว่าการรับผิดชอบในสิ่งเหล่านี้นั้นหนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อยและส่งผลกระทบต่อทุกคนในครอบครัว และแน่นอนว่า คุณเดนนิส ที่ดั้นด้นมาพูดคุยกับนักเขียนเรื่องนี้ก็เช่นกัน

คุณเดนนิส สารภาพว่า มีความรู้สึกสำนึกผิดคล้ายๆ กับผู้เขียนที่บอกถึงความรู้สึกในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในหนังสือหลังจากที่คุณเดนนิสไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่นั้นให้กับแม่ของเขาก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อหลายปีก่อน

ขณะที่ Linda Holtslander ผู้จัดการระบบห้องสมุด กัม สปริง ผู้อยู่เบื้องหลังจัดโครงการ Human Book เชื่อว่า การแบ่งปันความรู้สึกและความคิดของคนในชุมชนจะช่วยสร้างความใกล้ชิดระหว่างกันได้มากขึ้น

โครงการหนังสือมีชีวิต พูดได้ คิดได้ และแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ จากห้องสมุดมีชีวิตในรัฐเวอร์จิเนียแห่งนี้ได้รับแรงบันดาลใจโครงการนี้จากห้องสมุดแห่งหนึ่งใน กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ขณะเดียวกันก็ได้รับการคาดหวังว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ห้องสมุดที่อื่นนำไปใช้เป็นแบบอย่างบ้างในอนาคต

XS
SM
MD
LG