ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ย้อนดูเส้นทาง ‘นเรนทรา โมดี’ ผู้นำจุดกระแสชาตินิยมฮินดูในอินเดียจนติด


นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย พนมมือทักทายในงานประกาศนโยบายของพรรคภารติยะชนตะ (BJP) ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย วันที่ 14 เมษายน 2024 (ที่มา: AP)
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย พนมมือทักทายในงานประกาศนโยบายของพรรคภารติยะชนตะ (BJP) ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย วันที่ 14 เมษายน 2024 (ที่มา: AP)

สำนักข่าวเอพีย้อนดูสายธารชีวิตของนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ตั้งแต่เป็นสมาชิกกลุ่มฮินดูนิยมขวาจัดมาจนถึงวันที่เข้าสู่เวทีการเมือง ซึ่งทำให้กระแสชาตินิยมแบบฮินดูกลายมาเป็นกระแสหลัก และตัวเขาเป็นที่นิยมจนมั่นใจในการลงรับเลือกตั้งเป็นผู้นำสมัยที่สาม ในการเลือกตั้งที่เริ่มต้นขึ้นแล้วในวันศุกร์

หากกล่าวถึงแนวทางปรัชญา และความทะเยอทะยานทางการเมืองของโมดี กลุ่ม ราชตรียา สวายัมเซวัก สังกะ (Rashtriya Swayamsevak Sangh หรือ RSS) องค์กรฮินดูขวาจัดในอินเดีย เป็นตัวละครสำคัญที่ต้องพูดถึงในฐานะต้นธารทางความคิดที่โมดีสมาทานตั้งแต่สมัยเป็นสมาชิกเมื่อทศวรรษ 1960

RSS ซึ่งก่อตั้งในปี 1925 มีแนวทางสร้างอินเดียให้เป็นชาติของชาวฮินดู และไม่เกี่ยงที่จะใช้กำลังหากมีความจำเป็น แตกต่างจากมหาตมะ คานธี แกนนำการเรียกร้องเอกราชอินเดียจากอังกฤษ ผู้สนับสนุนให้เกิดความเป็นเอกภาพระหว่างศาสนิกชนฮินดูและมุสลิม

นิลันจัน มุโคปาเทย์ ผู้เขียนชีวประวัติของโมดี กล่าวว่า “เขา (โมดี) เป็นผลผลิตทางอุดมการณ์ของ RSS 100%” และกล่าวด้วยว่าโมดีได้ทำให้เป้าหมายของ RSS บรรลุผล

ในทศวรรษ 1970 โมดีกลายเป็นนักรณรงค์ของ RSS เต็มตัว ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองและได้เป็นมุขมนตรีรัฐคุชราตในนามของพรรคภารติยะชนตะ (BJP) ในปี 2001

หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็มีการจลาจลต่อต้านมุสลิมในพื้นที่ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนอย่างน้อย 1,000 คน โมดีถูกตั้งข้อสงสัยว่าสนับสนุนการจลาจลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งตัวเขาออกมาปฏิเสธ และต่อมาศาลสูงอินเดียก็ยกฟ้องเรื่องนี้เนื่องจากไม่มีหลักฐาน

แต่แทนที่เหตุการณ์นี้จะทำลายอนาคตทางการเมืองของเขา ในทางกลับกัน โมดีกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีก

คริสตอฟ แจฟเรลอต ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นโมดีและกระแสฝ่ายขวาของฮินดู กล่าวว่า สิ่งนี้ทำให้โมดีเน้นย้ำจุดขายเรื่องชาตินิยมฮินดู และก่อกำเนิด ‘คุชราตโมเดล’ หมายถึงการจับมือกับทุนใหญ่เพื่อสร้างงานในพื้นที่และกระตุ้นการพัฒนา จนเป็นทิศทางการสร้างนโยบายประชานิยมให้กับชาวฮินดูที่เขาใช้ซ้ำกับทั่วประเทศหลังชนะเลือกตั้ง

ในช่วง 10 ปีที่โมดีเป็นผู้นำอินเดีย เป็นช่วงเวลาที่อินเดียมีอำนาจในระดับโลกมากขึ้น มีเศรษฐกิจที่เติบโตจนใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก แต่ในทางกลับกัน ชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะชาวมุสลิมก็กลายเป็นเหยื่อของวาทกรรมความเกลียดชังและการสังหารถึงขั้นนำศพมาแขวนคอ นอกจากนั้น สถานการณ์ประชาธิปไตยก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าตกต่ำลง และเส้นแบ่งระหว่างรัฐและศาสนาก็มีความไม่ชัดเจนมากขึ้น

แม้ที่ผ่านมาพรรค BJP จะกล่าวมาตลอดว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชน แต่ในปี 2019 รัฐบาลอินเดียเพิกถอนสถานะพิเศษของแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งเป็นเขตปกครองเดียวในประเทศที่มีประชากรส่วนมากเป็นมุสลิม นอกจากนั้นยังผ่านกฎหมายพลเมืองโดยไม่นับรวมผู้ย้ายถิ่นชาวมุสลิม และสร้างวิหารฮินดูบนจุดที่เคยเป็นมัสยิดที่ถูกเผาทำลาย

โมดี กำลังอยู่บนเส้นทางครองอำนาจสมัยที่สามในการเลือกตั้งทั่วไปที่เริ่มต้นแล้วในวันศุกร์นี้ และเป็นที่คาดการณ์ว่าเขาจะเป็นผู้ชนะ สืบเนื่องจากกระแสนิยมมากกว่า 70% ในตัวเขา ในประเทศที่ 80% จากประชากรทั้งหมด 1,500 ล้านคนเป็นชาวฮินดู

คะแนนนิยมในตัวโมดี ถือว่าล้นหลามแซงหน้าพรรค BJP ที่สังกัด โดยผู้สนับสนุนมองว่าเขาเป็นผู้นำแบบแข็งกร้าวและไม่กลัวที่จะปะทะกับศัตรู นอกจากนั้นเขายังได้รับการสนับสนุนจากทั้งเศรษฐีที่ร่ำรวยขึ้น ไปจนถึงชนชั้นยากจนที่ได้รับอานิสงค์จากโครงการช่วยเหลือด้านอาหารและที่อยู่อาศัยฟรี รวมถึงการลดอัตราว่างงานและเงินเฟ้อ ไม่เพียงเท่านั้น ชาติตะวันตกยังเข้ามาอุ้มชูอินเดียเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับจีนในเอเชียด้วย

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ โมดีประกาศเป้าหมายว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนถึง 2 ใน 3 และวางเป้าหมายว่าจะทำให้อินเดียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2047 แก้ไขปัญหาความยากจน และทำให้เศรษฐกิจอินเดียใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

หากชนะเลือกตั้ง โมดีจะเป็นนายกฯ คนที่สอง ถัดจากเยาวหราล เนรูห์ ที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำสามสมัย

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG