ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกรายงานว่าปริมาณแก๊สเรือนกระจกชนิดต่างๆที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในชั้นบรรยากาศได้ถึงจุดสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว


องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกรายงานว่ามีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 375 พันล้านตันปล่อยออกไปในชั้นบรรยากาศโลกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นยุคอุตสาหกรรมในปีคริสตศักราช 1750

นายมิเชล เจอโรด เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศนี้ล้วนมาจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะจากการเผาผลาญพลังงานที่ได้จากถ่านหินและน้ำมัน

นายเจอโรดกล่าวว่าแก๊สเรือนกระจกบางชนิด โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ หากปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว จะคงอยู่นานหลายร้อยปี แม้ว่าคนเราสามารถหยุดยั้งการปล่อยแก็สเรือนกระจกได้ในวันพรุ่งนี้ โลกเรายังจะได้รับผลกระทบต่อไปจากแก็สเรือนกระจกที่ปล่อยออกไปแล้วยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก

นายเจอโรดกล่าวว่าปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศอีกหลายพันล้านตันจะทำให้โลกร้อยขึ้นเรื่อยๆ มีผลกระทบต่อชีวิตบนโลก เขาเตือนว่าการคงปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่อไปจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นแก๊สเรือนกระจกที่เลวร้ายที่สุดเพราะคงอยู่ได้นานในชั้นบรรยากาศ ตามด้วยแก๊สมีเทน และแก๊สไนตรัสออกไซด์ นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนและสภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มและผู้กำหนดนโยบายบางคนยังไม่เชื่อว่ากิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุหลักของแก๊สเรือนกระจก ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะอากาศโลกเชื่อว่าปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นมาจากควันเสียจากภาคอุตสาหกรรม

มาจนถึงขณะนี้ นายเจอโรดผู้อำนวยการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่าทะเลและป่าไม้ได้ดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมดที่มนุษย์สร้างขึ้นและเข้าไปอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก แต่เขาเตือนว่ามหาสมุทรและป่าไม้อาจจะไม่สามารถซึมซับปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเท่ากับที่ผ่านมา

นายเจอโรด ผู้อำนวยการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่าน้ำในทะเลเกิดความเป็นกรดมากขึ้นเพราะดูดซับเอาแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปปริมาณมากและระดับความเป็นกรดของน้ำทะเลมีผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ในท้องทะเล รวมทั้งปะการังและห่วงโซ่อาหารในทะเล

บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่องค์การอุตุนิยวิทยาโลกชี้ว่าบทบาทในการดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของทะเลกับป่าไม้มีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของระดับแก๊สชนิดนี้ หากมีการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นและเข้าไปอย่ในน้ำทะเลมากขึ้น แก๊สชนิดนี้จะคงอยู่ในน้ำทะเลได้นานนับร้อยนับพันปี ในขณะที่ป่าไม้จะเก็บกักแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในระยะเวลาสั้นกว่า

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกรายงานว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สไนตรัสออกไซด์ แก๊สมีเทน และแก๊สเรือนกระจกชนิดอื่นๆล้วนมีผลกระทบทางลบ แก๊สไนตรัสออกไซด์เป็นตัวทำลายชั้นโอโซนที่เป็นตัวปกป้องโลกจากรังสีอันตรายต่างๆจากดวงอาทิตย์
XS
SM
MD
LG