ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คนทั่วโลกเริ่มรับประทานอาหารหลักชนิดเดียวกันมากขึ้น


ผลการศึกษาชี้ว่าอาหารที่เรารับประทานกันทั่วโลกในปัจจุบันเริ่มมีส่วนประกอบคล้ายคลึงกันมากขึ้น เนื่องจากพืชหลักๆ หลายชนิดที่เคยเป็นอาหารหลักในส่วนใดส่วนหนึ่งของโลกได้เริ่มกลายเป็นที่นิยมรับประทานกันทั่วโลก

ทีมนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้เปิดเผยว่าอาหารหลักประจำชาติเพิ่มจำนวนจากแค่เพียงชนิดเดียวเป็นหลายชนิดมากขึ้น แต่อาหารหลักของคนทั่วโลกยังจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ชนิดสร้างความกังวลในประเด็นความมั่นคงทางอาหาร

ในจีน ข้าวยังเป็นอาหารหลักที่สำคัญอันดับหนึ่งโดยถือเป็นหนึ่งในสามของปริมาณพลังงานโดยเฉลี่ยที่ชาวจีนได้รับต่อวันจากอาหาร แต่ปัจจุบันชาวจีนยังนิยมรับประทานข้าวสาลีมากพอๆ กับข้าว

คุณ Colin Khoury แห่ง International Center for Tropical Agriculture หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องนี้กล่าวว่าในขณะที่พืชที่เป็นอาหารหลักหลายๆ ชนิดได้กลายเป็นที่นิยมรับประทานกันมากขึ้นทั่วโลก พืชที่เคยมีความสำคัญในท้องถิ่นเริ่มหมดความสำคัญลง

คุณ Khoury หัวหน้าทีมวิจัยยกตัวอย่างว่า ชาวจีนในปัจจุบันบริโภคมันเทศน้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว มันเทศเคยเป็นแหล่งพลังงานอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณพลังงานจากอาหารทั้งหมดต่อวันของชาวจีนแต่ละคน แต่ปัจจุบันได้ลดลงมาเหลือต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้เป็นข้อมูลจากเมื่อ 5 ปีที่เเล้ว

คุณ Khoury ชี้ว่านี่เป็นสาเหตุให้พืชอาหารหลักที่มีอยู่ไม่กี่ชนิดทั่วโลกเพิ่มความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม

เขากล่าวว่าพืชอาหารหลักเหล่านี้จำเป็นต้องเป็นพืชที่ทนทาน และต้องให้ผลผลิตที่ดีทุกปีทำให้มีความจำเป็นมากที่อนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุกรรมเพื่อสร้างเกราะป้องกันภัยคุกคามต่อผลผลิตของพืชจากภาวะโลกร้อนและจากปัจจัยอื่นๆ

ภาวะโลกร้อนและผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อมที่เกิดจากแนวทางการเกษตรในยุคปัจจุบันส่งผลให้พืชหลักที่คนนิยมรับประทานน้อยลงกลับกลายเป็นพืชน่าปลูกมากขึ้นเพราะเป็นพืชที่มีศักยภาพสูง

คุณ Danielle Nierenberg ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย Food Tank ในกรุงวอชิงตันซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการวิจัยนี้ กล่าวว่าพืชอาหารหลักที่คนไม่นิยมรับประทานมักเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและปลูกได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ไม่อุดมสมบูรณ์

คุณ Nierenberg กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าการลงทุนทางการเกษตรมุ่งเน้นไปที่การปลูกพืชอาหารหลักจำพวกแป้งและน้ำตาลมากกว่าพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

ผลการวิจัยนี้ชี้ว่าพืชทางการเกษตรหลักๆ ในปัจจุบันเป็นส่วนประกอบที่ไม่มีคุณค่าในอาหารที่เรารับประทาน อาทิ พืชที่ใช้ทำน้ำมัน เช่นถั่วเหลือง ปาล์มและดอกทานตะวัน รวมทั้งอ้อยเพื่อทำเป็นน้ำตาล

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามีการปลูกพืชเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นอย่างมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาและการบริโภคอาหารที่มีแคลอรี่สูงมีผลทำให้คนป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจและมะเร็งเพิ่มขึ้น

ทีมนักวิจัยพบว่าในยุโรปตอนเหนือเริ่มเห็นการปรับเปลี่ยนด้านการเพาะปลูกพืชหลักให้หลากหลายมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพและทางสิ่งเเวดล้อมและเป็นการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อปัญหาภาวะโลกร้อน
XS
SM
MD
LG