ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หน่วยงานจัดงานวันโลกใช้สื่อสังคมทางออนไลน์หลายเน็ทเวิร์คเป็นสื่อกลางดึงผู้คนทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วม


คาดว่ามีคนร่วมงานรณรงค์วันโลกราวหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกและทำให้วันนี้กลายเป็นวันรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่คนเข้าร่วมมากที่สุดในโลกงานหนึ่ง

คุณแฟรงคลิน รัสเซลเป็นผู้อำนวยการหน่วยงาน Earth Day for the Earth Day Network เขาอยากได้ภาพถ่ายจากผู้คนทั่วโลกเพื่อนำมาต่อกันเป็นภาพจิกซอแบบดิจิตอลใหญ่เพื่อรณรงค์เรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นหลักของวันโลกในปีนี้

คุณรัสเซลบอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าได้ภาพถ่ายสองสามใบล่าสุดส่งมาจากอินเดีย มาจากนักเรียนที่ใช้ถุงพลาสติกเก่ามาทำเป็นกระถางปลูกพืช นอกจากนี้ยังมีภาพคนอีกกลุ่มหนึ่งออกไปประท้วงในประเทศบัลแกเรียเพื่อต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าและเรียกร้องให้ทางการออกมาจัดการกับปัญหา
คุณรัสเซลกล่าวว่าการรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เอื้ออำนวยให้ทางหน่วยงานของเขาเก็บรวมรวมภาพถ่ายดิจิตอลจากคนทั่วโลกที่ใช้เฟสบุค instagram หรือ สื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ที่ลิงค์เข้ากับหน่วยงาน earthday.org

เขากล่าวว่าหัวใจสำคัญคือการหาทางให้คนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อาจจะถ่ายภาพตัวเอง หรือภาพที่แสดงถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน หรือ แสดงให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องแล้วส่งให้กับทางหน่วยงานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้อยู่
ภาพที่ได้ ทางหน่วยงานนำไปต่อกันเป็นภาพดิจิตอลใหญ่ ดูแล้วน่าทึ่ง เราสามารถคลิดดูภาพเล้กๆแต่ละภาพได้ แล้วพลิกอ่านข้อมูลทางด้านหลังภาพว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรและมาจากใคร นอกจากนี้ คุณยังสามารถเขียนแสดงความคิดเห็นต่อภาพผ่านทาง twitter ได้ด้วย
ภาพหนึ่งในนั้น เป็นภาพของเด็กหญิง Stephanie ที่ยืนอยู่บนภูเขาน้ำแข็งในนิวซีแลนด์ เธอบ่นว่าเพราะภาวะโลกร้อน เธอไม่สามารถปีนเขาบางลูกได้

ภาพอีกภาพหนึ่งเป็นภาพผู้หญิงในเคนยาที่กำลังหัดใช้เตาหุงหาอาหารที่ออกแบบใหม่ ให้มีประสิทธิภาพและสร้างมลพิษน้อยลง และยังปลอดภัยต่อผู้ใช้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีภาพของ Sarah Vant เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาประจำหน่วยงานไม่หวังผลกำไรแห่งหนึ่งในอังกฤษที่เรียกว่า EcoActive เธอทำงานกับคนทุกวัยเพื่อหาทางระดมสมองเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

อีกภาพหนึ่งเป็นภาพจากค่ายผู้อพยพที่ชายแดนไทย พม่า เป็นภาพของหญิงชราอายุ 75 ปี กำลังถือแผ่นโซล่าเพื่อนำไปติดตั้งบนหลังคากระท่อมของตนที่มุงด้วยจาก เป็นค่ายผู้อพยพชาวพม่าที่มีคนอาศัยอยู่ราว 600 คน ตั้งขึ้นเมื่อหกปีที่แล้ว ผู้อพยพเหล่านี้กลับประเทศบ้านเกิดไม่ได้และไม่มีไฟฟ้าใช้และมีโครงการที่มีหน่วยงานเอกชนช่วยกันตั้งขึ้นคือการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า
XS
SM
MD
LG