ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลงานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาระบุว่า ปลาโลมามีความจำยืดยาวกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ


ภาษิตฝรั่งกล่าวว่า ช้างไม่เคยลืม แต่ผลงานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ออกมากล่าวอ้างว่า บางทีปลาโลมาอาจจะมีความทรงจำเหนือช้างก็ได้

นักวิจัย Jason Bruck ที่มหาวิทยาลัย Chicago อยากจะดูว่าปลาโลมา โดยเฉพาะ โลมาปากหลอด หรือ bottlenose มีความทรงจำยืนยาวสักแค่ไหน เขาพูดถึงโลมาสองตัวเป็นพิเศษ

เขาบอกว่า ปลาโลมาปากหลอด Bailey และ Allie เคยอยู่ด้วยกันที่รัฐฟลอริดา แต่ต่อมา Bailey ย้ายไปอยู่ที่เกาะ Bermuda ส่วน Allie ถูกส่งไปอยู่ที่สวนสัตว์ Brookfield ในนครชิคาโก ปลาสองตัวนี้แยกกันมาเป็นเวลา 20 ปีแล้ว

งานวิจัยก่อนหน้านี้ กล่าวไว้ว่า เสียงร้องของปลาโลมาเมื่อเริ่มเติบโตนั้น เป็นเสียงเฉพาะตัว เหมือนกับมนุษย์แต่ละคนมีชื่อเฉพาะตัว

นักวิจัย Jason Bruck อัดเสียงร้องระบุชื่อของปลาโลมาไว้หลายตัว และนำไปเปิดให้ Bailey ปลาโลมาปากหลอดฟัง

นักวิจัย Jason Bruck บอกว่า เมื่อ Bailey ได้ยินเสียงของ Allie ก็แสดงความสนใจ ว่ายวนเข้าใกล้ลำโพงใต้น้ำ เพื่อสำรวจดูแหล่งที่มาของเสียง ซึ่งแสดงว่า Bailey จดจำเสียงของ Allie ได้ แม้จะไม่ได้เจอะเจอกันมานานถึง 20 ปีแล้วก็ตาม

นักวิจัยผู้นี้บอกว่า ที่คาดคิดไว้ก็คือ ปลาโลมาอาจจะมีความจำย้อนหลังไปได้สัก 5 – 10 ปี แต่นานถึง 20 ปีเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายมาก

เขาทดลองในลักษณะเดียวกันนี้กับปลาโลมาคู่อื่นๆ และได้ผลยืนยันอย่างเดียวกัน

Diana Reiss ผู้อำนวยการโครงการวิจัยปลาโลมาของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่นคร Baltimore บอกว่า ปลาโลมามีสมองใหญ่และมีความสลับซับซ้อนทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาโลมาผู้นี้กล่าวว่า สังคมปลาโลมาในท้องทะเลนั้น ใหญ่และซับซ้อน และผลการวิจัยของ Jason Bruck ชี้ให้เห็นความสำคัญของความผูกพันทางสังคมของสัตว์ ซึ่งนักวิจัย Jason Bruck บอกว่า ระบบสังคมของปลาโลมาที่เห็นนั้น ไม่แตกต่างไปจากของช้าง และลิงชิมแปนซี

นักวิจัยผู้นี้หวังว่า ข้อมูลจากงานวิจัยของเขาจะช่วยให้สวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่างๆ บริหารจัดการให้สัตว์ที่ถูกจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในที่กักขังอยู่ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น และมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้นด้วย






XS
SM
MD
LG