ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความรุนแรงของเชื้อไข้เลือดออกขึ้นอยู่กับการติดเชื้อครั้งก่อนหน้าและสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส


ความรุนแรงของเชื้อไข้เลือดออกขึ้นอยู่กับการติดเชื้อครั้งก่อนหน้าและสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส
ความรุนแรงของเชื้อไข้เลือดออกขึ้นอยู่กับการติดเชื้อครั้งก่อนหน้าและสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส

องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ประมาณว่าทุกปีมีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกห้าสิบล้านคนทั่วโลก ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันกับชาวนิคารากัวได้ค้นพบเหตุผลที่การติดเชื้อไข้เลือดออกหนที่สองจึงรุนแรงกว่าการติดเชื้อหนแรกและอาจทำให้เสียชีวิตได้

โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ ในบางกรณี ผู้ป่วยแค่มีอาการไข้ขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในผู้ป่วยหลายราย เชื้อไวรัสไข้เลือดออกอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเลือดออกภายในร่างกาย

เหตุผลที่ว่าทำไมคนไข้บางรายจึงเจ็บป่วยเล็กน้อยจากเชื้อไข้เลือดออก แต่บางรายถึงมีอาการของโรครุนแรงเป็นปริศนาต่อวงการแพทย์มาตลอด แต่มาถึงตอนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันและชาวนิคารากัวได้ไขปริศนานี้แล้ว

ไข้เลือดออกแยกออกได้สี่สายพันธุ์หลักๆ แต่มีในแต่ละสายพันธุ์มีแยกย่อยออกไปอีกมากมายตามความแตกต่างทางพันธุกรรม นอกจากนี้ในเขตที่มีไข้เลือดออกระบาด ประชาชนมีโอกาสติดเชื้อไข้เลือดออกได้หลายครั้ง การติดเชื้อหนแรกอาจทำให้มีอาการป่วยไม่รุนแรงและร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อไม่ให้ติดเชื้อไข้เลือดออกชนิดเดิมซ้ำอีก

คุณแมทธิว เฮ็น นักวิจัยชาวอเมริกันหนึ่งในทีมวิจัยที่สถาบันบรอดที่เมืองแคมบริดจ์ในรัฐแมสซาซูเซ็ท กล่าวว่า ภูมิคุ้มภุ้มที่ร่างกายสร้างขึ้นมาหลังจากอาการป่วยจากไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งจะไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ภูมิคุ้มกันดังกล่าวกลับไปช่วยให้เชื้อไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์อื่นสามารถแพร่เชื้อเข้าสู่เซลในร่างกายได้

คุณแมทธิว เฮ็น หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าวต่อว่า อาการป่วยมีโอกาสรุนแรงมากขึ้นในผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมาแล้ว แต่มาติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกอีกสายพันธุ์หนึ่งในหนต่อมา

ผลการศึกษาเรื่องนี้กระทบกระเทือนต่อความพยายามพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน เพราะนั่นหมายความว่าอาจจะต้องมีการปรับวัคซีนให้สามารถป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกสายพันธุ์ย่อยต่างๆที่ระบาดในพื้นที่นั้นๆเป็นการเฉพาะ

คุณแมทธิว เฮ็นกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า มีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกใด ๆ ก็ตามที่กำลังหาทางพัฒนากันอยู่จะต้องปรับให้สามารถรับมือกับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกที่ระบาดในพื้นที่ที่จะนำวัคซีนตัวนั้นๆไปใช้เพื่อให้ได้ผลในการป้องกันจริงๆ

ผลการศึกษาของคุณแมทธิว เฮ็น นักวิจัยที่สถาบันบรอดอินสติติ้วและทีมงานจากมหาวิทยาลัย University of California นี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Science Translational Medicine

XS
SM
MD
LG