ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การผลักดันโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีก่อให้เกิดความกังวลต่ออนาคตของแม่น้ำโขง


การผลักดันโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีก่อให้เกิดความกังวลต่ออนาคตของแม่น้ำโขง
การผลักดันโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีก่อให้เกิดความกังวลต่ออนาคตของแม่น้ำโขง

รัฐบาลประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงใกล้บรรลุการตัดสินใจเรื่องแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว แต่นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมกังวลว่าโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าวอาจเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยบริเวณลุ่มน้ำโขง

รัฐบาลลาวมีโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขงในส่วนที่อยู่ทางภาคเหนือของลาว คาดว่าเขื่อนไซยะบุรีจะผลิตไฟฟ้าได้ราว 1,260 เมกะวัตต์ นับเป็นเขื่อนแห่งแรกในโครงการสร้างเขื่อน 12 แห่งกั้นแม่น้ำโขงซึ่งรัฐบาลลาวชี้แจงว่าเป็นไปตามแผนจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและช่วยลดปัญหาความยากจน รัฐบาลไทยจะให้ความร่วมมือในการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท และจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้

โครงการเขื่อนไซยะบุรีคือโครงการแรกที่ต้องผ่านความเห็นชอบของ 4 ประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม โดยจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการแม่น้ำโขงตามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อ 16 ปีก่อน คาดว่าผลการตัดสินใจในโครงการสร้างเขื่อนแห่งนี้จะเปิดเผยในช่วงปลายเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ตามนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนรวมทั้งคุณ Ame Trandem แห่งกลุ่ม International Rivers ชี้ว่าไม่มีความโปร่งใสในกระบวนการหารือเรื่องการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และยังไม่มีการศึกษาผลกระทบเพียงพอตลอดจนขาดการประชุมหารือระดับท้องถิ่นอย่างเหมาะสม

คุณ Trandem แนะนำให้ชะลอการหารือและตัดสินใจเรื่องนี้ออกไปอีก 10 ปีเพื่อทำการศึกษาและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจแม่น้ำโขงมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางคณะกรรมการแม่น้ำโขงที่มีออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐและสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนด้านเงินทุน เห็นด้วยว่าควรยืดเวลาโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีออกไปก่อน เพราะยังต้องประเมินผลกระทบจากการสร้างเขื่อนถึง 12 แห่ง แต่ทางรัฐบาลลาวเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องชะลอโครงการ เพราะรัฐบาลลาวได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งด้านกฎหมาย สิ่งแวดล้อมและด้านสังคมแล้ว

ทางด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ทัศนะว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจะสามารถควบคุมปริมาณกระแสน้ำได้ แต่ก็อาจเป็นผลเสียต่อระบบนิเวศน์และระบบเศรษฐกิจของประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงได้เช่นกัน ดร.อานนท์ชี้ว่าปลาในแม่น้ำโขงนั้น มีความสำคัญทั้งในด้านอาหารและด้านเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเศรษฐกิจกัมพูชาที่ยังต้องพึ่งพาการส่งออกปลาจากแม่น้ำโขงไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศไทย

ส่วนคุณ Trandem แห่งกลุ่ม International Rivers กล่าวว่าโครงการเขื่อน 12 แห่งนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตผู้คนหลายล้านคนที่พึ่งพารายได้หลักจากอาชีพประมงในแม่น้ำโขง และผู้คนที่ต้องอาศัยปลาในแม่น้ำโขงเป็นอาหารเลี้ยงชีพ

เวลานี้บรรดานักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมพยายามกดดันให้รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศระงับโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีชั่วคราวเพื่อประเมินผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อแม่น้ำโขงและต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

XS
SM
MD
LG