ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เมื่ออินโดนีเซียและมาเลเซียกำลังเปิดสงครามแย่งชิงอัตลักษณ์วัฒนธรรม


อินโดนีเซียและมาเลเซียกำลังเกิดข้อขัดแย้งในประเด็นการอ้างความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมระหว่างสองชาติ ซึ่งอาจจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนขึ้นได้

กลอง กอร์ดัง ซาบิลัน (Gordang Sembilan) กลอง 9 ชิ้นในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณีท้องถิ่นของชาวชนเผ่า Batak ชนเผ่าท้อวถิ่นในเขตแมนไดลิง (Mandailing) บนเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซียกำลังกลายเป็นประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซียไปแล้ว หลังจากที่ทางการมาเลเซียประกาศให้ประเพณีการตีกลอง กอร์ดัง ซาบิลัน และพิธีกรรมการเต้นแบบพื้นเมืองที่เรียกว่า ตอร์ ตอร์ (tor tor) ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากที่เดียวกันในประเทศอินโดนีเซีย ขึ้นในบัญชีมรดกชาติของประเทศมาเลเซีย

รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาและวัฒนธรรมของอินโดนีเซียแสดงความไม่พอใจเรียกร้องให้ทางการมาเลเซียอธิบายในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการรวมตัวกันประท้วงของชาวอินโดนีเซียระดมขว้างก้อนหินและไข่เข้าใส่สถานทูตมาเลเซียอย่างโกรธแค้น และ
หนึ่งในสมาชิกรัฐสภาของอินโดนีเซียซึ่งเป็นชาวเกาะสุมาตราตอนเหนือถึงกับกล่าวว่า มาเลเซียควรจะได้รับการสั่งสอนในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตามคุณ Sitok Srengene นักเขียนและนักอนุรักษ์ศิลปะชาวอินโดนีเซีย กลับเห็นต่างออกไป โดยกล่าวว่า ทั้งการ ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ตอร์ตอร์ และกลอง กอร์ดัง ซาบีลันอันเก่าแก่เป็นประเพณีที่มีมาก่อนที่อินโดนีเซียและมาเลเซียจะก่อตั้งเป็นประเทศในโลกสมัยใหม่และแน่นอนว่ามาเลเซียมีสิทธ์ที่จะใช้วัฒนธรรมเหล่านี้เพื่ออธิบายอัตลักาษณ์ของตัวเองพอๆกับกลุ่มชาวแมนไดลิงบนเกาะสุมาตราที่มีสิทธิ์เช่นกัน

Sitok Srengene กล่าวด้วยว่า ต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีวัฒนธรรมใดที่อยู่ได้โดยอิสระหรือเกิดมาโดยไม่มีที่มา เพราะทุกวัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมอื่นๆอยู่เสมอนั่นเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางการมาเลเซียกล่าวว่า การประกาศดังกล่าวเป็นเพียงการบันทึกไว้ในรายการมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเท่านั้น ไม่ได้อ้างถึงสิทธิเหนือประเพณีดังกล่าว ขณะเดียวกันในมาเลเซียก็มีชาวแมนไดลิงจากเกาะสุมาตราอาศัยอยู่มากว่าศตวรรษแล้วเช่นกัน

แต่ข้อแก้ตัวนี้ไม่ได้ทำให้ความโกรธเคืองของชาวอินโดนีเซียลดลง เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวอินโดนีเซียกล่าวหาว่ามาเลเซียอ้างในมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเขา โดยเฉพาะโฆษณาทางโทรทัศน์ชุด Enigmatic Malaysia ที่ประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวในมาเลเซียเมื่อปีพุทธศักราช 2553 คือหนึ่งในรอยจำที่สร้างความโกรธแค้นให้ชาวอินโดนีเซียมาก่อนหน้านี้ เมื่อส่วนหนึ่งของโฆษณาการมีภาพการละเล่นของชาวอินโดนีเซียปรากฏอยู่ แต่ในครั้งนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวของมาเลเซียต้องออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ และอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของบริษัทผู้ผลิตโฆษณาโทรทัศน์ชิ้นดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่า พิธีกรรม หรือการละเล่นทางวัฒธรรมอื่นๆเช่น Wayang Kulit การแสดงหุ่นเงา หรือที่รู้จักในนามหนังตะลุงที่มีทางภาคใต้ของไทยเช่นกัน รวมไปถึง การเขียนผ้าบาติค และอาหารประเภทสเต๊ะ ชนิดต่างๆ อาจจะก่อให้เกิดส่งครามวัฒนธรรมได้ในอนาคต

Dr. Ross Tapsell ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อในอินโดนีเซีย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยกล่าวว่า ประเด็นทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในอินโดนีเซีย และสื่อของอินโดนีเซียก็มักจะนำเสนอเรื่องราวในลักษณะนี้มายาวนาน และมักจะกล่าวหามาเลเซีย หรือสิงคโปร์ที่ผู้พรากวัฒนธรรมเหล่านี้ไปจากชาวอินโดนีเซีย

มีความกังวลเช่นกันว่าความขัดแย้งระหว่างอินโดนีเซีย และมาเลเซียอาจะไม่ยุติเพียงแง่ทางวัฒนธรรมเท่านั้น และเริ่มเกิดข้อพิพาทในระดับย่อย เช่นเกิดการข่มเหงรังแกทางเพศ หรือการทำร้ายร่างกายแรงงานอพยพชาวอินโดนีเซีย โดยนายจ้างชาวมาเลเซียบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งๆที่ผู้คนจากสองประเทศจะมีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและภาษาที่ใกล้เคียงกันอย่างมาก

Sitok Srengene นักเขียนและศิลปินชาวอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลทั้งสองประเทศควรจะยื่นมือเข้ามาใกล่เกลี่ยเรื่องนี้
นักเขียนและศิลปินชาวอินโดนีเซีย กล่าวถึงทางออกในเรื่องนี้ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซียควรใส่ใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และควรใช้ทูตวัฒนธรรมและทูตทางการเมืองนั่งลงพูดคุยเพื่อลดอุณภูมิแห่งความขัดแย้งและขจัดปัญหาที่คาใจระหว่างกัน โดยช่วยกันแก้ปัญหาอย่างระมัดระวังซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดก่อนที่ความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและประเพณีอันงดงามที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษจะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดสงครามทางวัฒนธรรมที่ต้องมีคนสังเวยชีวิตอย่างไม่มีเหตุผล

พินิจการณ์ ตุลาชม วีโอเอ ภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน
XS
SM
MD
LG