ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สัตว์และพืชหลายสายพันธุ์เผชิญภัยคุกคามจากมนุษย์และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามรายงานของ IUCN


Much progress has been made to save the Iberian Lynx. Mature cats numbered just 52 in 2002. (Credit: IUCN)
Much progress has been made to save the Iberian Lynx. Mature cats numbered just 52 in 2002. (Credit: IUCN)

International Union for Conservation of Nature (IUCN) คือเครือข่ายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่เก่าแก่ที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

Direct link

แม้ปัจจุบันการรักษาพันธุ์พืชและสัตว์หายากจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่รายงานล่าสุดของ International Union for Conservation of Nature (IUCN) เตือนว่ายังมีสัตว์และพืชมากมายหลายสายพันธุ์ที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคาม และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

IUCN จัดทำบัญชีรายชื่อสัตว์และพืชหายากกว่า 77,000 สายพันธุ์ และเตือนว่าในจำนวนนี้มีอยู่ 23,000 สายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และ 830 สายพันธุ์ที่กำลังสูญพันธุ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกของเรา กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

คุณ Craig Hilton-Taylor ผอ.ฝ่ายจัดทำบัญชีรายชื่อสายพันธุ์สัตว์และพืชหายากของ IUCN ชี้ว่า ปัจจุบันการรักษาพันธุ์พืชและสัตว์หายากจะมีความก้าวหน้าไปมาก มีเครื่องมือและวิธีมากมายในการรักษาพันธุ์พืชสัตว์และปกป้องถิ่นที่อยู่ของพวกมัน ถึงกระนั้นภัยคุกคามใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน แม้จะเป็นเรื่องน่าตกใจ แต่หลังจากการทำวิจัยและศึกษาหาทางรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะหาวิธีจัดการกับภัยคุกคามนั้นได้

อย่างไรก็ดี IUCN ชี้ว่าปัญหาสำคัญที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องของวิธีการ แต่เป็นเรื่องของทรัพยากรมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรบุคคล เงินทุน หรือนโยบายที่เหมาะสมของรัฐบาล

หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของ IUCN ในการปกป้องสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ คือแมวป่าไอบีเรี่ยนในสเปน ซึ่งเคยมีตัวเต็มวัยเพียง 52 ตัวบนโลกเมื่อปี ค.ศ 2002 แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็น 156 แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอทำให้แมวป่าไอบีเรียนถูกถอดออกจากปัญชีรายชื่อสัตว์กำลังสูญพันธุ์ อีกตัวอย่างหนึ่งคือแมวน้ำขนยาวพันธุ์กัวดาลูป ซึ่งเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่จากการสำรวจเมื่อปี ค.ศ 2010 พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ตัว

ในทางกลับกัน มีพืชและสัตว์บางชนิดที่เข้าใกล้กับการสูญพันธุ์ยิ่งขึ้น เช่น กล้วยไม้รองเท้านารีในเอเชีย ที่เผชิญภัยคุกคามจากการลักลอบซื้อขายในตลาดมืด และการสูญเสียแหล่งที่อยู่สืบเนื่องจากการพัฒนา รวมทั้งสิงโตแอฟริกันที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพราะการถูกล่า การสูญเสียถิ่นที่อยู่ และความขัดแย้งกับมนุษย์เนื่องจากสัตว์ที่เป็นเหยื่อของสิงโตมีจำนวนลดลง ทำให้สิงโตต้องแอบไปกินปศุสัตว์ของชาวบ้านมากขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ รายงานชิ้นใหม่ของวารสาร Science Advances ระบุว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์โลกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเป็นไปในอัตราที่รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีมนุษย์เป็นตัวการสำคัญ

คุณ Craig Hilton-Taylor แห่ง IUCN เห็นด้วยว่ามนุษย์คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นความต้องการพื้นที่การเกษตร การขยายเขตนาคร สร้างถนน ทำเหมืองแร่ และมลพิษต่างๆ คุณ Hilton-Taylor เชื่อว่าสิ่งที่จะยับยั้งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นี้ได้ คือการร่วมมือกันอย่างกว้างขวางจริงจังทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อปกป้องถิ่นที่อยู่ของพืชและสัตว์ การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติและเขตปกป้องพันธุ์พืชและสัตว์ ตลอดจนการบริหารจัดการพื้นที่นอกเขตปกป้องเหล่านั้น

ผู้จัดทำรายงานของ IUCN เชื่อว่าเมื่อมีการบริหารจัดการพื้นที่ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถฟื้นฟูถิ่นที่อยู่ของสัตว์และพืชหลายสายพันธุ์ และนำความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์กลับคืนมาอีกครั้ง เหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในหลายกรณีด้วยกัน

ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าววีโอเอ Joe de Capua

XS
SM
MD
LG