ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐบาลจีนพยายามปัดความสนใจเรื่องความขัดแย้งต่อประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับพรมแดนทางทะเล


รัฐบาลจีนพยายามปัดความสนใจเรื่องความขัดแย้งต่อประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับพรมแดนทางทะเล
รัฐบาลจีนพยายามปัดความสนใจเรื่องความขัดแย้งต่อประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับพรมแดนทางทะเล

รัฐบาลจีนพยายามปัดความสนใจเรื่องความขัดแย้งต่อประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับพรมแดนทางทะเล ในขณะเดียวกันก็พยายามรักษาอำนาจอธิปไตยอย่างแข็งขันเหนือหมู่เกาะที่มีปัญหาในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ซึ่งหลายประเทศต่างกล่าวอ้างสิทธิครอบครองบริเวณน่านน้ำดังกล่าว

เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลจีนเปิดเผยเอกสารปกขาวด้านความมั่นคงซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางทะเลที่สำคัญที่สุดต่อรัฐบาลจีนในขณะนี้คือพื้นที่ทางทะเลส่วนที่ติดกับไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนยังมีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศ ได้แก่บริเวณหมู่เกาะ Spratly และ Paracel ในทะเลจีนใต้ โดยหมู่เกาะ Spratly นั้นมีบรูไน จีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวันและเวียดนามกล่าวอ้างสิทธิ์ในการครอบครอง ในขณะที่หมู่เกาะ Paracel ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า มีประเทศจีน ไต้หวันและเวียดนามเป็นผู้กล่าวอ้าง

ส่วนทางด้านทะเลจีนตะวันออก จีนกับญี่ปุ่นกำลังมีความขัดแย้งเรื่องหมู่เกาะที่จีนเรียกว่าเกาะเตียวหยูหรือที่ทางญี่ปุ่นเรียกว่าเกาะเซนกากุเช่นกัน เกาะที่ว่านี้อยู่ในเขตการเดินเรือหลักและเป็นพื้นที่สำคัญทางการประมง ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสองประเทศต่างเชื่อว่ามีแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ซุกซ่อนอยู่บริเวณเกาะดังกล่าว

คุณ Gabe Collins ผู้เชี่ยวชาญจากเว็บไซต์ China SignPost ระบุว่าความต้องการพลังงานในประเทศจีนคือสาเหตุหลักที่ผลักดันให้รัฐบาลจีนพยายามรักษาอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะต่างๆ เพื่อเสาะหาแหล่งพลังงานนอกชายฝั่งมาทดแทนแหล่งพลังงานบนบกที่เริ่มร่อยหรอลงเรื่อยๆ นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่าน้ำมันแต่ละบาร์เรลที่ผลิตได้จากแหล่งพลังงานนอกชายฝั่งหมายถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากประเทศอื่นที่ลดลงในสัดส่วนเท่ากัน ซึ่งเชื่อว่าภายในช่วง 5-10 ปีปริมาณการผลิตน้ำมันนอกชายฝั่งของจีนจะเพิ่มขึ้นอีกมาก

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลจีนพยายามอ้างสิทธิ์ครอบครองเหนือน่านน้ำต่างๆให้ได้ คือเรื่องของความภาคภูมิใจ คุณ Li Mingjiang ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่ง Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ชี้ว่า ในอดีตชาวจีนมักรู้สึกอยู่เสมอว่าถูกชาติมหาอำนาจอื่นๆเอาเปรียบ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นศตวรรษแห่งความอัปยศอดสูของชาวจีนก็คงไม่ผิด ศาสตราจารย์ Li เชื่อว่าปัจจุบันเมื่อจีนแข็งแกร่งขึ้น ก็มีความมั่นใจว่าจะต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนและแข่งขันกับประเทศอื่นๆในทะเลจีนใต้ได้

เหตุผลสำคัญทั้งสองข้อที่กล่าวมานี้ ปรากฎให้เห็นชัดเจนเมื่อโฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเกาะ Spratly ในทะเลจีนใต้อยู่ในการครอบครองของจีน และจีนถือว่าการที่ประเทศอื่นทำการสำรวจแหล่งพลังงานในบริเวณนั้นโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย คำแถลงดังกล่าวส่งผลให้หลายประเทศรวมทั้งสหรัฐจับตามองการเคลื่อนไหวของกองทัพเรือจีนอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ Hillary Clinton กล่าวว่าประเทศใดที่กล่าวอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำที่มีปัญหา ควรยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณาตามกฎหมายทางทะเลของสหประชาชาติ แต่ศาสตราจารย์ Li Mingjiang เชื่อว่ารัฐบาลจีนต้องการแก้ไขข้อพิพาทเรื่องนี้แบบทวิภาคีมากกว่า เพราะรัฐบาลกรุงปักกิ่งเกรงว่าหากเรื่องนี้ไปถึงสหประชาชาติ จีนอาจต้องสูญเสียสิ่งที่ต้องการหลายอย่างในทะเลจีนใต้ไป

นักวิชาการผู้นี้ยังเชื่อด้วยว่าสำหรับบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ค่อนข้างยินดีที่สหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้ แต่ในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็ไม่ต้องการตัดสินใจเลือกข้างใดข้างหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจ

XS
SM
MD
LG