ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนพยายามจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ยังประสบอุปสรรคอีกหลายด้าน


กระทรวงพิทักษ์สิ่งเเวดล้อมจีนได้สั่งให้รัฐวิสาหกิจน้ำมันปิโตรเลียมสองแห่งยุติโครงการใหม่ที่เสนอเอาไว้่หลังจากโครงการไม่ผ่านข้อกำหนดด้านการควบคุมมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ปัญหามลพิษทางอากาศกับปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลสืบเนื่องจากการเติบโตทางเศษฐกิจจีนที่รวดเร็วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเป็นสาเหตุให้จีนตกเป็นเป้าสายตาของนานาชาติ นอกจากนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ยังทำให้ประชาชนจีนเองไม่พอใจด้วย

โครงการต่างๆ ที่ใช้พลังงานถ่านหินไปจนถึงน้ำมันปิโตรเลียมถูกสาธารณชนตรวจสอบมากขึ้นในประเทศจีนเนื่องจากเกรงต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ในบางกรณี เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องเลิกล้มโครงการไปเลยหลังจากประชาชนจำนวนมาก ออกมาประท้วงหลายครั้งติดต่อกัน

นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่าการตัดสินใจเมื่อเร็วๆ นี้โดยกระทรวงพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจีนที่ยุติโครงการลงทุนของทั้งสองรัฐวิสาหกิจดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันจากประชาชน

คุณหยาง ฟูเกียง แห่งสภาพิทักษ์ทรัพยากรแห่งชาติ (National Resources Defense Counci) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับชาติชี้ว่านอกจากจะเป็นการเตือนใจทั้งการปิโตรเลียมแห่งชาติจีนกับการปิโตรเคมีแห่งจีนแล้ว นี่ยังเป็นบทเรียนแก่รัฐวิสาหกิจจีนทุกเจ้าว่าจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ

คุณหยางกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าการตัดสินใจของกระทรวงครั้งนี้ยังเป็นการตอบสนองต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายประชาชนที่เห็นว่ากระทรวงพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจีนทำงานไม่เต็มที่ในการจัดการกับผู้สร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม

คุณหยางกล่าวว่าการตัดสินใจของกระทรวงพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจีนเป็นความพยายามที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่าตนได้บังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด

ชาวจีนมีความกังวลและตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากเกิดปัญหามลพิษทางอากาศปกคลุมกรุงปักกิ่งและอีกหลายๆ เมืองในจีนและในเวลาต่อมา มีการตรวจพบข้าวที่ปนเปื้อนสารเคมีในเมืองกวางโจว ทำให้ประชาชนกังวลต่อคุณภาพของน้ำ

แต่ขณะที่ความกังวลของสาธารณชนเพิ่มขึ้น บรรดาหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานพัฒนาเอกชนชี้ว่าต้องเริ่มจัดการกับปัญหานี้ แทนที่จะแสดงความกังวลเท่านั้น สาเหตุของมลพิษหลักของจีนเกิดจากการใช้ถ่านหินซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานปริมาณมหาศาลของประเทศ

รัฐบาลจีนกำลังพยายามหาทางปรับปรุงมาตราการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่จะใช้กับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และทางการได้เริ่มทำการรวมกิจการโรงงานไฟฟ้าครั้งใหญ่ โดยแบ่งตามขนาด ออกเป็น 10 บริษัทขนาดใหญ่และ 10 บริษัทขนาดกลาง จีนมีเหมืองถ่านหินขนาดเล็กราวหมื่นกว่าเหมืองที่ขาดเงินทุน

แต่ขณะที่จีนพยายามรวมโรงงานไฟฟ้าเข้าด้วยกัน ทางการยังวางแผนสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเพิ่มเติมไปพร้อมๆ กัน โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเหล่านี้นอกจากจะถูกวิจารณ์เพราะมลพิษที่จะเกิดขึ้นแล้ว ผู้ไม่เห็นด้วยชี้ว่าโรงงานเหล่านี้ยังใช้น้ำในปริมาณมหาศาลอีกด้วย

คุณเบ็ทซี่ อ็อตโต้ ผู้อำนวยการโครงการแห่งสถาบัน World Resources Institute ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวิจัย ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตันในสหรัฐกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าจากการวิเคราะห์ของสถาบันพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งใหม่ 363 โรงที่ทางการจีนวางแผนจะสร้างขึ้น จะตั้งอยู่ในเขตที่มีการใช้น้ำกันอยู่แล้วในปริมาณมาก เป็นพื้นที่ที่แย่งกันใช้น้ำสูง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเนื่องจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินต้องใช้น้ำปริมาณมากในระบบคูลลิ่งและในการผลิตไฟฟ้า การก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในจีนก็จะรังแต่จะไปเพิ่มความกดดันต่อทรัพยากรน้ำในพื้นที่มากขึ้นไปอีก
XS
SM
MD
LG