รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนปรับปรุงใหม่ของโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiatives (BRI) เมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยจะหันมาทุ่นทุนกับแนวทางการใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานจากถ่านหินหรือพลังงานที่ไม่สามารถหมุนเวียนได้
การปรับกลยุทธ์ของ BRI ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จีนใช้เพื่อแสดงจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ปรับแผนการสร้างระบบในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อรองรับการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน
ทางการจีนได้ชักชวนประเทศพันธมิตรต่างๆ ผ่านการประกาศถึงโครงการ BRI ขั้นที่ 2 นี้โดยขอให้ร่วมมือกับตนเองในการเปลี่ยนการใช้ทรัพยากรพลังงานให้มาเป็นรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม เช่น พลังงานจากลม พลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานจากชีวมวลแทน
ทางด้านประธานาธิบดีจีน สี จิ้น ผิง เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ด้วยว่าจีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงสุดก่อนปี 2030 และจากนั้นจะลดลงมาเรื่อยๆ
หัวหน้านักนักวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิกของบริษัท IHS Markit นาย ราจีฟ บิชวอซ บอกกับวีโอเอว่า “นโยบายใหม่ของโครงการ BRI ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้นตรงกับการให้คำมั่นของจีนที่จะพยายามปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็น 0%ในปี 2060 และความพยายามของรัฐบาลที่จะค่อยๆ ปรับให้เศรษฐกิจภายในประเทศให้เป็นไปตามรูปแบบดังกล่าว”
นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่าจีนน่าจะเปิดเผยรายละเอียดถึงแผนโครงการ BRI 2 มากขึ้นที่ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP26 ที่จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้ ตามข้อมูลล่าสุดของ IHS Market โครงการ BRI ได้สร้างสถิติถใหม่ด้านการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเมื่อปีแล้ว โดยมีการลงทุนคิดเป็น 57% จากการลงทุนด้านพลังงานทั้งหมด
สถานบันวิจัยสิ่งแวดล้อมโลกของนครปักกิ่งในประเทศจีนยังได้ระบุด้วยว่า เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นสองพื้นที่หลักที่มีแผนการการใช้พลังงานจากถ่านหินถึง 80% ภายใต้โครงการ BRI อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ หลายประเทศค้านกลับกับจีนว่าต้องการการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศของตนเองมากขึ้น
นายโจนาธาน ฮิลล์แมน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านเศรษฐกิจของ the Center for International & Strategic Studies (CSIS) ในกรุงวอชิงตันได้บอกกับวีโอเอว่า แม้ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาที่ จีนจะมีสัดส่วนปฏิเสธการพัฒนาโครงการที่ใช้พลังงานถ่านหินมากกกว่าสัดส่วนการอนุมัติโครงการประเภทนี้ แต่ความพยายามที่แท้จริงว่าต้องการจะพัฒนาในรูปแบบไหนต้องมาจากประเทศที่เข้าร่วมโครงการ BRI
ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ยกตัวอย่างกรณีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยกระทรวงการคลังของประเทศบังกลาเทศต้องการใช้ทรัพยากรจากพลังงานที่ไม่สะอาดต่อไป แต่จีนกลับปฏิเสธและเลือกที่จะไม่พิจาณาการลงทุนทำเหมืองถ่านหินหรือสร้างโรงพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินในประเทศดังกล่าวอีก
ต่างกันกับกรณีของกรีซ เคนย่า ปากีสถาน และเซอร์เบียที่แสดงความต้องการต่อจีนชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มาลงทุนในโครงการที่จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอีก
และแม้ว่าจีนจะไม่ได้ประกาศอะไรที่แปลกใหม่ก่อนที่ส่งคณะเข้าร่วมประชุม COP26 แต่ทางรัฐบาลปักกิ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ BRI ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการทำโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บิชวอซจาก IHS Markit ได้เตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่จีนจะกำหนดเป้าหมายการลดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมให้กับบริษัทที่อยู่ภายใต้ข้อริเริ่ม BRI โดยบริษัทเหล่านี้อาจจะต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลงตามที่ทางการจีนต้องการ
อย่างไรก็ตาม กฎข้างต้นอาจจะเป็นเหมือนแนวทางของจีนที่เห็นเมื่อสองปีก่อน ซึ่งจีนตั้งเป้าหมายแบบไม่มีเงื่อนไขผูกพัน