ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รอยร้าวในอาเซียนที่มากับอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีน


ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 45 ปีที่สมาคมอาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนร่วมว่าด้วยเรื่องทะเลจีนใต้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียนที่กรุงพนมเปญเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกของอาเซียนในประเด็นดังกล่าว

ขณะนี้ รมต.ต่างประเทศของอินโดนีเซีย นาย Marty Natalegawa กำลังอยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านฉุกเฉิน เพื่อพยายามสร้างความกลมเกลียวเหนียวแน่นในอาเซียน แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าความพยายามสร้างเอกภาพในอาเซียนกำลังสั่นคลอนเนื่องจากอิทธิพลทางการเมืองของจีนที่มีต่อบางประเทศ เช่นกัมพูชา ซึ่งยังต้องพึ่งพาเงินลงทุนและเงินกู้จากจีนมูลค่าหลายพันล้านดอลล่าร์

ด้านนาย Ralph Cossa นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงแห่ง Pacific Forum เชื่อว่าจีนต้องการให้เกิดความแตกแยกในอาเซียนในประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ และดูเหมือนเวลานี้หลายฝ่ายกำลังมองว่าจีนใช้กำลังข่มเหงกัมพูชาและประเทศในอาเซียนที่อ่อนแอบางประเทศ

สมาชิกอาเซียนบางประเทศต่างกล่าวหากัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความล้มเหลวและแตกแยกด้วยการสยบต่ออิทธิพลของจีน นำไปสู่การปฏิเสธข้อเสนอของฟิลิปปินส์และเวียดนามที่ต้องการให้มีแถลงการณ์แสดงจุดยืนร่วมกัน นาย Phat Kosal นักวิจัยด้านเอเชียที่ University of Southern California ระบุว่าเวียดนามไม่พอใจที่กัมพูชาเลือกเข้าข้างจีนแทนที่จะอยู่ฝ่ายเดียวกับสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองตามธรรมเนีบมที่ปฏิบัติมา

ส่วนนาย Brad Adams ผอ.ฝ่ายเอเชียของ Human Rights Watch ชี้ว่าการที่นายกรัฐมนตรี Hun Sen ของกัมพูชา เลือกเข้าจ้างจีนมากกว่าสมาคมอาเซียน แสดงให้เห็นชัดว่านายกฯ Hun Sen คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเองมากกว่าประโยชน์ของประเทศและอาเซียน

ด้านผู้สังเกตการณ์คนอื่นๆ เชื่อว่าความพยายามส้รางจุดยืนร่วมกันในเรื่องทะเลจีนใต้จะประสบภาวะชะงักงันตลอดช่วงที่กัมพูชายังเป็นประธานอาเซียน แต่คาดว่าจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้งในปีหน้า เมื่อบรูไนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่กล่าวอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานอาเซียนรอบต่อไป
XS
SM
MD
LG