ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยนำแบคทีเรียใต้ทะเลลึกมาดัดแปลงให้สามารถกินก๊าซคาร์บอนฯ แล้วเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ


นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยการค้นพบวิธีแปรสภาพก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่อาจพัฒนาไปเป็นพลังงานทางเลือกใหม่แทนเชื้อเพลิงจากซากพืชซากสัตว์ได้ในอนาคต โดยอาศัยความช่วยเหลือจากจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง

จุลินทรีย์ที่ว่านี้คือแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Pyrococcus Furiosis หรือเรียกง่ายๆว่า “ลูกไฟยุ่บยั่บ” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบเมื่อปี พ.ศ 2529 บริเวณใต้ทะเลเมดิเตอเรเนียนนอกชายฝั่งทางใต้ของอิตาลี โดยแบคทีเรียชนิดนี้กินสารคาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในน้ำทะเลรอบๆปล่องภูเขาไฟใต้ทะเลซึ่งมีสภาพเป็นกรดและมีความร้อนสูงเกิน 100 องศาเซลเซียส การค้นพบดังกล่าวสร้างความแปลกใจให้กับนักวิทยาศาสตร์เพราะก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าไม่มีแบคทีเรียใดๆอาศัยอยู่ในน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิเกิน 100 องศาเซลเซียสได้

คุณ Michael Adams หนึ่งในคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยจอร์เจียร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลน่า ทำการดัดแปลงพันธุกรรมของแบคทีเรียให้สามารถอาศัยอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าถิ่นที่อยู่เดิมและยังปรับเปลี่ยนให้สามารถกินก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอาหารได้ จากนั้นดัดแปลงพันธุกรรมของแบคทีเรียชนิดนี้อีกครั้งให้สามารถเปลี่ยนแหล่งพลังงานที่เสริมเข้าไปคือก๊าซไฮโดรเจน ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่าบิวทานอล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่เผาไหม้คล้ายกับเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล

นักวิจัย Michael Adams ชี้ว่าการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากแบคทีเรียลูกไฟนี้ช่วยลดขั้นตอนการสกัดเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชต่างๆเช่น ข้าวโพดหรืออ้อย เพราะแบคทีเรียที่ว่านี้จะเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพโดยตรง โดยมีแหล่งกำเนิดพลังงานเป็นก๊าซไฮโดรเจน ขณะที่พืชนั้นใช้แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานในการผลิตน้ำตาล ก่อนที่จะนำน้ำตาลนั้นไปหมักเป็นเชื้อเพลิงเอธานอล

นักวิจัยอธิบายว่าแบคทีเรียที่ค้นพบนี้น่าจะสามารถดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมาแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ จากนั้นเชื้อเพลิงชีวภาพจะเปลี่ยนกลับไปเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกครั้งและหมุนเวียนกลับมาเป็นอาหารของแบคทีเรียลูกไฟยุ่บยั่บต่อไป

นักวิจัยเชื่อว่าเชื้อเพลิงบิวทานอลที่ได้จากแบคทีเรียชนิดนี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงจากซากพืชซากสัตว์เช่น น้ำมันและถ่านหินได้ หากสามารถพัฒนาให้เป็นระบบผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพขนาดใหญ่ได้ในอนาคต

งานวิจัยครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานสหรัฐ สำหรับผู้ที่สนใจค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม รายงานเรื่องนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร The Proceedings of the National Academy of Science
XS
SM
MD
LG