ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ILO เร่งเร้าให้เจ้าของโรงงานในกัมพูชาตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารโรงงาน


บรรดาเจ้าของโรงงานในกัมพูชากำลังเจอแรงกดดันจากหลายฝ่ายให้สร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของตัวอาคารโรงงานหลังเกิดเหตุส่วนหนึ่งของโรงงานผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่งถล่มทำให้มีคนเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 30 คน

องค์การแรงงานนานาชาติแห่งสหประชาชาติหรือไอเอลโอ ร่วมกับกลุ่มดูแลด้านการค้าจีเม็ค (GMAC) ที่เป็นตัวแทนเจ้าของโรงงาน เป็นผู้ร่างจดหมายร้องเรียนเรื่องนี้และได้ส่งจดหมายไปยังโรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าในกัมพูชาจำนวน 500 แห่ง โดยได้แนะนำให้เจ้าของโรงงานทั้งหมดว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบความแข็งแรงทางโครงสร้างของอาคารโรงงานทุกโรง
องค์การไอเอลโอเป็นผู้จัดทำโครงการเพื่อโรงงานที่ดีกว่าของกัมพูชาโดยเฝ้าตรวจสอบสภาพของโรงงานราว 430 โรงในประเทศ ซึ่งว่าจ้างคนงานทั้งหมดมากกว่าสี่แสนคน

คุณเจสัน จู้ด เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคแห่งองค์การไอเอลโอกล่าวว่าเจ้าของโรงงานในกัมพูชาบางแห่งได้แสดงความเห็นชอบต่อข้อเสนอของจดหมายดังกล่าวแล้ว

เขากล่าวว่าผู้ซื้อสินค้าจากโรงงานเหล่านี้มีส่วนในการสร้างแรงกดดันเพื่อหาทางแก้ไขเรื่องนี้ในระดับหนึ่ง แม้ว่าแรงกดดันที่มีผลมากที่สุดจะมาจากภาครัฐบาลของกัมพูชาเอง ทางไอเอลโอเห็นว่าเมื่อบริษัทที่สั่งผลิตสินค้าในโรงงานของกัมพูชามีอิทธิพลอย่างมากต่อเจ้าของโรงงาน และเมื่อลูกค้าเพิ่มแรงกดดันให้มากขึ้น เขามั่นใจว่าเจ้าของโรงงานในกัมพูชาจะยอมว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจความแข็งแรงของอาคารโรงงานของตน

อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าในกัมพูชาเป็นปัจจัยหลักต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและมีมูลค่าเกือบห้าพันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จากการส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศในขณะนี้และสร้างงานให้ประชานมากที่สุดในประเทศ และผู้ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในกัมพูชามีสามฝ่าย คือ รัฐบาลกัมพูชา เจ้าของโรงงานที่ส่วนใหญ่มาจากจีน เกาหลีและใต้หวัน และสุดท้ายคือลูกค้าที่รวมทั้งเจ้าของยี่ห้อดังๆ อาทิ บริษัท Nike บริษัท Adidas และ WalMart

คุณเดฟ เวล์ลช ผู้อำนวยการประจำกัมพูชาแห่ง American Center for International Labour Solidarity หน่วยงานไม่หวังผลกำไรที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานในสหรัฐ
คุณเวล์ลช กล่าวอ้างผลการสำรวจของไอเอลโอที่พบว่า มีโรงงาน 14 เปอร์เซ็นต์ในกัมพูชาที่ล็อคประตูทางหนีไฟ โดยตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขเมื่อสองปีที่แล้วและอีก 41 เปอร์เซ็นต์ของโรงงานในกัมพูชาไม่ใส่ใจฝึกการหนีไฟในโรงงานทุกหกเดือน

คุณเวลช กล่าวว่าจากผลการสำรวจของไอเอลโอนี้ แสดงว่า อุบัติภัยกำลังรอวันที่จะเกิดขึ้น ขึ้นอยู่ที่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดเท่านั้น

ด้านคุณเค็น ลู เลขาธิการกลุ่มดูแลด้านการค้าจีเม็ค (GMAC) กล่าวว่าสมาชิกของคณะกรรมการส่วนใหญ่จะดำเนินตามข้อเรียกร้องในจดหมายและจะว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบตัวอาคารโรงงานตามกำหนด

เลขาธิการกลุ่มดูแลด้านการค้าจีเม็ค (GMAC) ในกัมพูชากล่าวว่าใจความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าจะต้องดำเนินการเมื่อใด แต่เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำในฐานะที่เป็นสมาชิก ด้วยการแสดงความใส่ใจต่อปัญหาและจัดการกับจุดที่ควรได้รับการปรับปรุง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โครงการเพื่อโรงงานที่ดีกว่าของกัมพูชา โดยไอเอลโอ ถูกหน่วยงานเพื่อสิทธิแรงงาน วิจารณ์ว่าขาดความโปร่งใสและเป็นเสือกระดาษ

คุณเจสัน จู้ด แห่งไอเอลโอกล่าวต่อเรื่องนี้ว่าทางองค์การกำลังปรับปรุงในเรื่องรายละเอียดหลายๆอย่างอยู่ในขณะนี้ และจะมุ่งเป้าที่การเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงในโรงงาน ในประเด็นการละเมิดกฏหมายและเพื่อปรับปรุงมาตราฐานด้านความปลอดภัยโดยเฉพาะจากเหตุไฟใหม้

เจ้าหน้าที่ไอเอลโอเน้นว่างานนี้จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบจากสามฝ่าย นั่นก็คือเจ้าของโรงงาน บริษัทเจ้าของสินค้าแบรนด์แนมทั้งหลายและรัฐบาลกัมพูชาเอง
XS
SM
MD
LG