ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รอยร้าวในอาเซียนเริ่มปรากฎหลังความล้มเหลวในการร่างแถลงการณ์แสดงจุดยืนว่าด้วยเรื่องทะเลจีนใต้


Supporters of ousted Egyptian President Mohamed Morsi gather in Cairo, August 16, 2013.
Supporters of ousted Egyptian President Mohamed Morsi gather in Cairo, August 16, 2013.

นักวิเคราะห์ชี้ว่าอาจกำลังเกิดรอยร้าวในกลุ่มอาเซียนระหว่างสมาชิกที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้กับสมาชิกที่ต้องพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจ

ความล้มเหลวของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนที่ไม่สามารถออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนร่วมกันของอาเซียนในเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ได้ระหว่างการประชุมที่กรุงพนมเปญ ทำให้หลายฝ่ายจับตามองไปที่ท่าทีของกัมพูชาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาอาเซียนในปัจจุบัน และต่างมีคำถามถึงความแน่นแฟ้นกลมเกลียวของสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

ระหว่างสรุปการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาคมอาเซียนที่กรุงพนมเปญเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ค ผู้แทนของฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นหนึ่งสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ได้ตำหนิกัมพูชาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้อาเซียนใม่สามารถออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนร่วมกันของอาเซียนในเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ได้ โดยทางฟิลิปปินส์นั้นต้องการให้มีแถลงการณ์ที่ระบุถึงการหารือในกลุ่มอาเซียนว่าด้วยเรื่อง Scarborough Shoal หรือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาทระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน

รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา Hor Numhong จัดประชุมแถลงข่าวหลังการประชุมเมื่อวันศุกร์ กล่าวปกป้องการตัดสินใจของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน โดยบอกว่าสมาคมอาเซียนไม่ควรเข้าร่วมในข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นจุดยืนแบบเดียวกับจีน รัฐมนตรี Hor Numhong กล่าวว่าในฐานะประธานอาเซียน กัมพูชาไม่ใช่ศาลตัดสินข้อพิพาทเรื่องนี้ และเวทีการประชุมระดับรมต.ต่างประเทศอาเซียนไม่ใช่วาระตัดวินว่าใครผิด-ใครถูกเช่นกัน รมต.ต่างประเทศกัมพูชาบอกด้วยว่ามีสมาชิกอาเซียนบางประเทศพยายามยกประเด็นนี้มาหารือ

ทางด้านอาจารย์ Carlyle Thayer นักวิเคราะห์กิจการอาเซียนแห่งมหาวทยาลัย New South Wales ชี้ว่าความล้มเหลวของอาเซียนแม้แต่การร่างแถลงการณ์ง่ายๆเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น และยิ่งก่อให้เกิดคำถามถึงความสามัคคีของอาเซียน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าจีนได้พยายามบั่นทอนความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนในการปกป้องพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ด้วยการใช้อิทธิพลต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งคาดว่าต่อไปประเด็นใดที่มีผลกระทบต่อจีนก็อาจเผชิญปัญหาแบบเดียวกัน

อาจารย์ Carlyle Thayer บอกด้วยว่าประเด็นนี้อาจยิ่งขยายผลให้เห็นถึงรอยร้าวในหมู่สมาชิกอาเซียน ระหว่างสมาชิกที่มีความขัดแย้งเรื่องพรมแดนทางทะเลกับจีน กับสมาชิกที่ต้องพึ่งพาจีนทางการค้า โดยที่ผ่านมานั้น กัมพูชาได้รับเงินกู้และเงินลงทุนจากจีนเป็นมูลค่าหลายล้านดอลล่าร์

ด้านเลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เน้นย้ำว่าสมาชิกอาเซียนควรเร่งปรับปรุงภาพพจน์ที่มัวหมองลงเพราะเรื่องนี้ และว่าตนไม่โทษใครหรือประเทศใด แต่ถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่ต้องหาทางจัดการปัญหานี้ให้ได้
XS
SM
MD
LG