ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นางอองซานซูจี ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าผู้ได้รับอิสรภาพเมื่อไม่นานมานี้กำลังหาช่องทางกลับสู่การมีบทบาททางการเมือง


นางอองซานซูจี ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าผู้ได้รับอิสรภาพเมื่อไม่นานมานี้กำลังหาช่องทางกลับสู่การมีบทบาททางการเมือง
นางอองซานซูจี ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าผู้ได้รับอิสรภาพเมื่อไม่นานมานี้กำลังหาช่องทางกลับสู่การมีบทบาททางการเมือง

ไม่กี่วันหลังจากได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณอยู่กับบ้านมานานหลายปี นางอองซานซูจี ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ากำลังหาช่องทางกลับสู่การมีบทบาททางการเมือง แต่นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนกล่าวว่า ความสามารถของนางอองซานซูจีที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อาจถูกจำกัด ส่วนหนึ่งนั้น เพราะหากเธอผลักดันรัฐบาลทหารมากเกินไป เธออาจถูกกักขังอีกได้

ไม่ถึง 1 สัปดาห์ หลังจากได้เป็นอิสระจากการถูกกักบริเวณอยู่กับบ้านรอบหลังสุดนาน 7 ปี นางอองซานซูจี ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ากำลังดำเนินงานทางกฏหมายในการพยายามฟื้นฟูพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยให้กลับเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฏหมายใหม่

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่นางอองซานซูจีเป็นผู้นำ ถูกยุบไป เพราะปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามระเบียบกฏเกณฑ์อันเข้มงวดขันในการเลือกตั้ง และไม่ลงทะเบียนเข้ารับเลือกตั้งทั่วไปในพม่าซึ่งเป็นที่เห็นกันมากว่าไม่โปร่งใส ขณะนี้พรรคดังกล่าวกำลังทำงานในฐานะเป็นกลุ่มการกุศลทางสังคม ซึ่งจะเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้

ผู้นำพรรคฝ่ายค้านวัย 65 ปีผู้นี้กล่าวว่า เธอต้องการพบกับกลุ่มต่างๆ ที่ส่งเสริมประชาธิปไตยที่ไปร่วมในการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ร้องทุกข์ว่า การลงคะแนนเสียงมีการฉ้อโกงและข่มขู่คุกคาม แต่ขณะเดียวกันเธอก็เสนอที่จะมีการเจรจาประนีประนอมปรองดองกับรัฐบาลทหารด้วย

ในการให้สัมภาษณ์แก่ Voice of America ภาคภาษาพม่าหลังจากได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณอยู่กับบ้าน นางอองซานซูจี ยอมรับว่า การเจรจากับรัฐบาลทหารคงจะมีขึ้นไม่ได้ง่ายๆ เธอเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความตั้งใจมุ่งมั่นจริงจังที่จะหาวิธิแก้ปัญหา ซึ่งจะต้องมีความเต็มใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงจะหาทางแก้ได้ และสิ่งที่จะต้องทำก็คือ พยายามชักจูงโน้มน้าวให้ระบอบรัฐบาลทหารเห็นว่า การประนีประนอมปรองดองในชาตินั้น เป็นผลประโยชน์ของทุกคนทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายทหารเอง

นางอองซานซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้รับความนิยมยกย่องเป็นอย่างมาก แต่นักวิเคราะห์บางคนยังไม่แน่ใจว่า เธอจะสามารถแปรความนิยมยกย่องนี้ให้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพได้ดีเพียงใด

William Case ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ City University ในฮ่องกง กล่าวว่า นางอองซานซูจี สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้มีความหวังและทำให้ประชาชนยังคงมีอารมณ์ความรู้สึกและความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยไม่เสื่อมคลาย แต่เมื่อพิจารณาในแง่การเปลี่ยนแปลงสู่การเมืองระบอบประชาธิปไตยที่มีความหมายเป็นแก่นสารสำคัญอย่างจริงจังแล้ว เธออาจทำได้ในขอบเขตจำกัด

นางอองซานซูจีกำลังพิจารณาที่จะสนับสนุนให้ยุติการใช้มาตรการลงโทษทางเศรษกิจกับรัฐบาลทหารของพม่า หลังจากที่เธอขอให้รัฐบาลของประเทศตะวันตกจำกัดการค้ากับพม่าเพื่อลงโทษรัฐบาลทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาหลายปี ผู้คัดค้านการใช้มาตรการลงโทษเห็นว่า จะเป็นผลเสียต่อประชาชนทั่วไป และจะทำให้ประเทศต่างๆ ที่ไม่ค่อยนำพาเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่าง จีน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการลงทุนและการค้ากับพม่า

Carl Thayer อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่ Australian Defence Force Academy เห็นว่า การยกเลิกมาตรการลงโทษนั้น อาจทำให้นางอองซานซูจีมีโอกาสได้พบกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหาร แต่อิทธิพลของเธอต่อการเมืองของพม่าจะถูกจำกัด เพราะทันทีที่ยกเลิกการคว่ำบาตร์ นางอองซานซูจีก็จะมีความสำคัญน้อยลงในด้านนั้น และเธออาจถูกมองข้ามเพราะเธอไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทในด้านบริหาร และหากเธอพยายามจะระดมประชาชนไม่ว่าจะกรณีใด รวมทั้งการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ ก็จะทำได้ยากขึ้น

นางอองซานซูจีกล่าวว่า เธอจะผลักดันต่อไปเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งมีนักโทษการเมืองถูกกักขังอยู่ราว 2,200 คน และทางการทหารถูกกล่าวหาว่า บังคับใช้แรงงาน ทรมาน ข่มขืน และฆาตกรรม

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า หากเธอวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิติเตียนรัฐบาลทหารหนักเกินไป เธอก็อาจถูกจัดการให้สงบเสียงลงได้ไม่ยาก เพียงด้วยการสั่งกักบริเวณเธออีกเท่านั้น

นาอองซานซูจีกล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่ได้มีความตั้งใจจะปะทะกับทางการทหาร และว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหวังว่า ทางการทหารจะเข้าใจว่า การปะทะกันไม่ใช่ทางแก้ปัญหาของพม่า

XS
SM
MD
LG