ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หลายประเทศเร่งผ่อนคลายมาตรการลงโทษพม่าเพื่อหาลู่ทางเข้าไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่


ความก้าวหน้าของการปฏิรูปการเมืองในพม่าทำให้หลายประเทศเช่นออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐและบางประเทศในยุโรป เริ่มผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่าโดยเฉพาะในส่วนของการขอวีซ่าและข้อจำกัดทางการเงิน

ผู้เชี่ยวชาญคาดกันว่าในวันที่ 23 เมษายนนี้ สหภาพยุโรปอาจระงับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่มีต่อพม่า และยังเชื่อกันว่าสหรัฐและอีกหลายประเทศจะทำตามในเวลาไม่นาน หลังจากเมื่อเร็วๆนี้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ David Cameron ได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรประงับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่มีต่อพม่าคงเหลือไว้เพียงแค่มาตรการห้ามค้าอาวุธ ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าคำเรียกร้องของผู้นำอังกฤษยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลสหรัฐยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่าเช่นกัน

รองประธานโครงการ Global Policy ของสถาบัน Asia Society คุณ Suzanne DiMaggio กล่าวกับวีโอเอว่าสหรัฐกำลังเกรงว่าจะตามประเทศอื่นไม่ทัน หลังจากหลายประเทศเริ่มยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่าเพื่อหาลู่ทางเข้าไปลงทุนในพม่าซึ่งมีแหล่งทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และมีประชากรถึง 60 ล้านคน นั่นยังไม่รวมถึงจีนที่เข้าไปลงทุนเปิดตลาดในพม่าเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว

นักวิเคราะห์ผู้นี้ระบุว่าเวลานี้จีนคือประเทศคู่ค้าสำคัญที่สุดของพม่า ซึ่งนั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สหรัฐไม่อาจนิ่งเฉย โดยล่าสุดเมื่อวันอังคารกระทรวงการคลังสหรัฐได้ประกาศให้องค์การกุศลต่างๆสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมการกุศลในพม่าได้แล้ว และยังอนุญาตให้คนอเมริกันสามารถบริจาคเงินหรือลงทุนในโครงการเพื่อความช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ โครงการด้านสาธารณสุข การศึกษาและกิจกรรมต่างๆทางศาสนา เช่นเดียวกับทางรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีแผนจะประกาศยกหนี้ให้แก่พม่ามูลค่า 3,700 ล้านดอลล่าร์และยังมีแผนจะเสนอเงินกู้ช่วยเหลือให้แก่พม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีด้วย

ประเทศตะวันตกกำหนดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่าหลายลำดับขั้นมาตั้งแต่เกิดการประท้วงในปี พ.ศ 2531 และอีกครั้งในปี พ.ศ 2550 ส่วนใหญ่ห้ามซื้อขายอาวุธ อายัดทรัพย์สินของผู้นำทหารพม่าและพวกพ้วง รวมทั้งจำกัดการออกวีซ่า โดยสหรัฐใช้มาตรการลงโทษหนักที่สุดคือพ่วงมาตรการห้ามลงทุน ห้ามค้าขายและห้ามทำธุรกรรมการเงินกับรัฐบาลพม่าเข้าไว้ด้วย อย่างไรก็ตามมีหลายองค์กรที่รณรงค์ต่อต้านมาตรการลงโทษพม่า เช่นกลุ่ม International Crisis Group หรือ ICG ในอินโดนีเซีย เพราะเชื่อว่ามาตรการเหล่านั้นเป็นผลร้ายต่อประชาชนพม่ามากกว่าผู้นำทหาร

แต่การจะยกเลิกมาตรการลงโทษต่างๆในส่วนของสหรัฐก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายนัก คุณ Jim Della-Giacoma ผอ.ฝ่ายเอเซียของ ICG ชี้ว่าปัญหาในสหรัฐคือมาตรการลงโทษต่างๆนั้นถูกบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย การจะล้มเลิกกฎหมายดังกล่าวจึงต้องมีการผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะในปีเลือกตั้งปธน.สหรัฐเช่นนี้

ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าการค่อยๆผ่อนคลายมาตรการลงโทษต่อพม่าน่าจะเป็นผลดีมากกว่าการยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดอย่างทันทีทันใด เพราะหากเร็วเกินไปก็อาจเป็นผลร้ายต่อพม่าเองเนื่องจากยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลพม่าควรจัดการ เช่นการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและการยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย

คุณ Zoya Phan ผู้จัดการโครงการ Burma Campaign ในกรุงลอนดอน เสนอแนะว่าควรมีการยกเลิกมาตรการลงโทษธุรกิจขนาดย่อมในพม่า แต่ให้คงมาตรการลงโทษสำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่นการทำเหมืองแร่ การค้าอัญมณี โลหะต่างๆและอุตสาหกรรมการทำไม้เอาไว้ก่อน เพื่อกดดันให้รัฐบาลพม่าเดินหน้าตามแผนปฏิรูปการเมืองต่อไป

นักวิเคราะห์จำนวนมากต่างเห็นว่าการระงับมาตรการลงโทษพม่าบางส่วนคือแนวทางสายกลางที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะสามารถนำมาตรการเหล่านั้นกลับมาใช้อีกได้เมื่อเห็นว่ารัฐบาลพม่าก้าวถอยหลังเรื่องการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับข้อคิดเห็นและคำเสนอแนะของนางออง ซาน ซูจี ที่สนับสนุนให้ประเทศต่างๆใช้วิธีระงับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่าแบบชั่วคราวเพื่อรอดูท่าที แต่ไม่ใช่การยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดในตอนนี้

XS
SM
MD
LG