ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักรณรงค์ในพม่าตอบรับการยกเลิกมาตรการลงโทษทางการค้าของสหรัฐด้วยดี แต่นักวิเคราะห์ยังกังวลต่อแผนปฏิรูปกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน


ขณะนี้อเมริกายังคงไม่นำเข้าสินค้าจากพม่าเพราะเรื่องนี้ต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาอเมริกันก่อน

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นาง Hillary Clinton ประกาศเมื่อวันพุธว่าสหรัฐตัดสินใจยกเลิกมาตรการลงโทษทางการค้าให้กับพม่า ซึ่งเป็นการผ่อนคลายต่อพม่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เรื่องกฎระเบียบทางการเงินก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นคำประกาศของรัฐมนตรี Clinton ยังเกิดขึ้นพร้อมกับการเยือนอเมริกาของประธานาธิบดี Thein Sein ของพม่าที่มาประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ

ขณะที่นาง ออง ซาน ซูจี ผู้นำประชาธิปไตยของพม่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐเช่นกัน กล่าวว่าจากนี้ต่อไป การเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยของพม่าจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงกดดันจากภายนอกอีกแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่สหรัฐเองก็แสดงความปรารถนาที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในพม่าด้วย

อาจารย์ Sean Turnell จาก Macquarie University ของออสเตรเลีย กล่าวว่า ผลที่จับต้องได้ของการยกเลิกมาตราการลงโทษทางเศรษฐกิจในพม่าต้องการเวลาเป็นเครื่องช่วย

เขากล่าวว่า พม่ายังคงอยู่ภายใต้การลงโทษจากสหรัฐที่สำคัญอยู่หนึ่งประเด็น นั่นคือการที่อเมริกายังคงไม่นำเข้าสินค้าจากพม่า เรื่องนี้ต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาอเมริกัน และตนคิดว่ามาตราการดังกล่าวจะยังคงไม่ถูกยกเลิกจนกว่าหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือนพฤศจิกายน

นักวิเคราะห์อีกคนหนึ่ง Bo Hla Tint กล่าวว่าพม่าควรเตรียมสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าส่งออกมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็งและเป็นแรงโน้มน้าวให้ผู้นำเปิดเสรีอย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้บริษัทใหญ่ๆของสหรัฐ เช่น Coca-Cola และ Pepsi ได้แสดงความจำนงที่จะลงทุนในพม่าเรียบร้อยแล้ว ส่วนประเทศไทยเองก็เป็นนักลงทุนอันดับสองในพม่าด้วยเงินมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งตามหลังจีนซึ่งมีแผนลงทุนมูลค่า 1 หมื่น 3 พันล้านเหรียญ
คุณ Phil Robertson จากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch กล่าวว่าก้าวต่อไปของการปฏิรูปในพม่าคือเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน เขากล่าวว่า เศรษฐีพม่าที่รู้จักผู้มีอำนาจใช้เส้นสายของตนเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ยังไม่มีคนถือครองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และไล่ชาวไร่ชาวนาออกจากที่ทำกินที่บางแห่งกลายเป็นทำเลทองอยู่ขณะนี้

ทางด้านองค์การ Alternative ASEAN Network กล่าวว่า พม่ายังคงต้องสร้างกรอบกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิการถือครองที่ดินของคนกลุ่มน้อย รวมทั้งการปกป้องสวัสดิภาพของคนงาน

ส่วนความกังวลเรื่องอื่นๆรวมถึงปัญหา corruption ซึ่งพม่าติดอันดับประเทศที่มีความโปร่งใสน้อยที่สุดประเทศหนึ่งฬนโลกตามดัชนี Transparency International Index

นักวิเคราะห์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB (Asian Development Bank) คุณ Cyn-Young Park ชี้ให้เห็นถึงการความสำคัญของการยกระดับคุณภาพของการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกเหนือจากการปฏิรูปกฎหมายและธรรมภิบาล

ABD กล่าวว่าหากพม่าสามารถรักษาแรงขับเคลื่อนด้านการปฏิรูปได้ การขยายตัวของเศรษฐกิจน่าจะสูงถึง 8% และรัฐบาลน่าจะสามารถเพิ่มรายได้ประชาชาติได้ถึงสามเท่าภายในปี ค.ศ. 2030
รายงานโดย Ron Corben/เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท
XS
SM
MD
LG