ลิ้งค์เชื่อมต่อ

Human Rights Watch กล่าวหาเจ้าหน้าที่พม่าว่าก่ออาชญากรรมและพยายามกวาดล้างชาวโรฮิงจะในรัฐยะไข่เมื่อปีที่แล้ว


รายงานของกลุ่ม Human Rights Watch ระบุว่าเจ้าหน้าที่พม่าได้พยายามขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงจะให้ออกจากรัฐยะไข่หลังจากเกิดความรุนแรงด้านเชื้อชาติขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เรียกว่าเป็นการกวาดล้างชาวโรฮิงจะในรัฐยะไข่ก็ว่าได้

คุณ Matthew Smith นักวิจัยเรื่องพม่าของกลุ่ม Human Rights Watch ระบุว่า ไม่เพียงแต่รัฐบาลพม่าจะปล่อยให้พระสงฆ์และนักการเมืองหัวรุนแรงในรัฐยะไข่กระจายข่าวในทำนองต่อต้านมุสลิมโดยมิได้เข้าแทรกแซงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเองยังได้ทำลายสุเหร่าหลายแห่ง ปิดกั้นความช่วยเหลือจากต่างชาติที่ให้แก่ชาวมุสลิม และยังขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงจะให้ออกจากพื้นที่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทหารของพม่าได้บุกรุกหมู่บ้านของชาวมุสลิมหลายแห่ง ยิงชาวบ้าน ปล้นชิงทรัพย์สิน และไล่จับชาวมุสลิมจำนวนมากโดยไม่เลือกเพศหรืออายุ ผู้ถูกจับกุมบางคนมีอายุเพียง 8 ขวบเท่านั้น

รายงานดังกล่าวซึ่งใช้ชื่อว่า “All You Can Do is Pray” หรือ “สิ่งที่พอทำได้คือการสวดภาวนา” จัดทำขึ้นโดยการสัมภาษณ์ชาวมุสลิมโรฮิงจะและชาวพุทธในรัฐยะไข่กว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้เห็นเหตุการณ์โดยตรง

เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ในรัฐยะไข่เมื่อปีที่แล้วนั้นเกิดขึ้น 2 ครั้งคือในเดือน มิ.ย และ ต.ค คาดว่ามีผู้เสียชีวิตราว 200 คนและไร้ถิ่นที่อยู่อีกกว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นอกจากนี้กลุ่ม Human Rights Watch บอกว่าพบหลักฐานชี้ว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในพม่ายังได้ขุดหลุมฝังศพขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 4 แห่ง ทำให้เชื่อว่าแท้จริงแล้วผู้เสียชีวิตอาจมีจำนวนมากกว่านั้น

คุณ Phil Robertson รองผอ.ฝ่ายเอเชียของ Human Rights Watch เรียกร้องให้มีการสืบสวนโดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาดูเหมือนรัฐบาลพม่าไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร
รายงานของ Human Rights Watch ชิ้นนี้เปิดเผยออกมาในขณะที่กำลังมีการประชุมของสหภาพยุโรปเพื่อหารือเรื่องการยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดต่อพม่า ซึ่งคุณ Phil Robertson เห็นว่ายังเร็วเกินไปที่จะทำเช่นนั้น เพราะยังไม่เห็นความก้าวหน้าด้านการปฏิรูปการเมืองในพม่าดังที่ควรจะเป็น
รองผอ.ฝ่ายเอเชียของ Human Rights Watch เชื่อว่าสหภาพยุโรปกำลังละทิ้งมาตรการสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้พม่าปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชน แล้วเลือกเดิมพันกับพฤติกรรมและการรักษาสัจจะของรัฐบาลและกองทัพพม่าแทน ซึ่งมีความเสี่ยงสูง และยังบอกด้วยว่าประเด็นปัญหาเรื่องชาวโรฮิงจะนี้เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข รวมทั้งบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของพม่าด้วย

คุณ Phil Robertson แห่งกลุ่ม Human Rights Watch ชี้ว่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่รับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงจะเข้าประเทศนั้น มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับผู้นำรัฐบาลพม่าให้หยุดความรุนแรงและยอมรับชาวโรฮิงจะเป็นพลเมืองส่วนหนึ่งของพม่า โดยที่ผ่านมาสมาคมอาเซียนค่อนข้างนิ่งเฉยต่อประเด็นเรื่องชาวโรฮิงจะเกินไป นักสิทธิมนุษยชนผู้นี้ยังได้กระตุ้นให้อาเซียนทบทวนเสียใหม่ว่าพม่าเหมาะสมกับตำแหน่งประธานสมาคมอาเซียนในปีหน้าหรือไม่
XS
SM
MD
LG