ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐบาลพม่าเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง


รัฐบาลพม่าเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง
รัฐบาลพม่าเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชนซึ่งก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง

รัฐบาลทหารพม่ากำลังเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆให้เป็นของเอกชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าโครงการดังกล่าวคือการถ่ายโอนทรัพย์สินของรัฐให้กับพรรคพวกเพื่อนพ้องของผู้นำรัฐบาลทหารพม่า และเป็นความพยายามควบคุมเศรษฐกิจพม่าทั้งหมด

พม่าคือหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในเอเชีย และรัฐบาลทหารพม่าครอบครองเศรษฐกิจส่วนใหญ่ แต่ขณะนี้รัฐบาลพม่ากำลังเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆให้เป็นของเอกชนโดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจ

รายงานจากสื่อมวลชนในกรุงย่างกุ้งระบุว่า กิจการของรัฐมากกว่า 400 แห่ง รวมถึงท่าอากาศยาน อาคารสำนักงาน สถานีจ่ายน้ำมัน และที่ดินใกล้ท่าเรือใหญ่ต่างถูกขายไปแล้ว คุณ Douglas Clayton กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนเพื่อการลงทุน Leopard Capital ในกัมพูชา กล่าวว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจคือความก้าวหน้าสู่เศรษฐกิจพม่าสมัยใหม่ที่มีการจัดการดีขึ้น และบอกว่าไม่ว่าผลลัพธ์ของการแปรรูปนี้จะออกมาเป็นอย่างไรก็คงไม่เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน และจะเป็นการปูทางสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจเสรี

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจชี้ให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลทหารพม่าที่ต้องการรักษาอำนาจเอาไว้ ทรัพย์สินของรัฐส่วนใหญ่ต่างถูกผ่องถ่ายไปเป็นของนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำทหาร เพื่อสร้างการสนับสนุนก่อนการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงผู้นำพรรค Union Solidarity and Development ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า

ทางด้านคุณ Peter Gallo แห่งบริษัทที่ปรึกษาเพื่อต่อต้านการฟอกเงิน Pacific Risk ในฮ่องกง เตือนว่าบรรดานักลงทุนต่างชาติผู้ต้องการลงทุนในพม่าจำเป็นต้องระวังให้ดี เพราะสหรัฐ สหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศ กำหนดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่า เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมือง และกิจการของรัฐบางอย่างที่ถูกแปรรูปนั้นอยู่ในบัญชีดำของรัฐบาลสหรัฐ เช่น Union of Myanmar Economic Holdings ผู้ควบคุมการจ่ายเงินบำนาญให้แก่ทหารพม่า

ก่อนหน้านี้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เรียกร้องให้ประเทศตะวันตกยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อพม่า โดยบอกว่าการเลือกตั้งปีที่แล้วและการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี แสดงให้เห็นแล้วว่าพม่ากำลังก้าวเดินไปตามเส้นทางการปฏิรูปการเมือง แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนโต้แย้งว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริง และพม่ายังคงคุมขังนักโทษการเมืองมากกว่า 2 พันคน อีกทั้งยังครอบครองเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้

XS
SM
MD
LG