ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักลงทุนเอเชียเตรียมทุ่มเงินลงทุนในพม่าหลังจากสหรัฐผ่อนคลายมาตรการลงโทษ


นักลงทุนจากต่างชาติกำลังให้ความสนใจลงทุนในพม่า แต่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าพม่ายังมีปัญหาท้าทายอีกมากทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสหรัฐได้ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่าบางคนเดินทางเข้าสหรัฐ พร้อมกับผ่อนคลายข้อจำกัดบางส่วนสำหรับบริษัทอเมริกันที่ต้องการลงทุนและทำธุรกรรมการเงินกับพม่า ซึ่งสร้างความยินดีให้กับนักลงทุนจำนวนมากในสหรัฐ


นายดักลาส เคลย์ตัน ประธานฝ่ายบริหารของบริษัทเพื่อการลงทุน Leopard Capital เชื่อว่าพม่ากำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น มาตรการลงโทษเก่าๆที่มีต่อพม่าจึงควรถูกยกเลิกเพราะว่าพม่าแสดงให้เห็นแล้วว่ากำลังเดินไปในแนวทางประชาธิปไตย

ทางด้านสมาคมอาเซียนได้เรียกร้องเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้มีการยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจทั้งหมดต่อพม่า แต่สมาชิกอาเซียนบางประเทศไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่ายังเร็วเกินไปที่จะยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมด และอาจก่อให้เกิดความสั่นคลอนต่อเสถียรภาพในพม่าได้ ขณะที่บรรดากลุ่มรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยต้องการให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดก่อนที่จะมีการยกเลิกมาตรการลงโทษต่อพม่า

ดร.ไกรศักดิ์ ผู้แทนของไทยในคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยเรื่องพม่าหรือ Myanmar Caucus ให้ความเห็นว่าควรมีการเพิ่มแรงกดดันให้ผ่อนคลายมาตรการลงโทษพม่าต่อไปตามมติของอาเซียน ในขณะเดียวกันก็ควรหาทางยุติการต่อสู้กับชนกลุ่มน้อยให้ได้ก่อนที่จะยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมด นอกจากนี้ ดร. ไกรศักดิ์ยังเกรงด้วยว่า เมื่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซูจี ได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภาฯตามที่ต้องการแล้ว อาจไม่ใส่ใจต่อประเด็นการยุติความขัดแย้งระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย

หลังเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการลงโทษพม่า ชาวต่างชาติจำนวนมากต่างต้องการเดินทางเข้าไปพม่าเพื่อยลโฉมประเทศเปิดใหม่แห่งนี้ ผช.ศ.ดร.ฌอน เทริ์นแนลล์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Macquarie ในออสเตรเลียชี้ว่า เวลานี้บรรดานักลงทุนเอเชียต่างจ้องมองพม่าตาเป็นมันและตื่นเต้นที่ชาวตะวันตกให้ความสนใจเดินทางท่องเที่ยวในพม่า นักลงทุนจำนวนมากจึงพร้อมทุ่มเงินลงทุนเพื่อสร้างโรงแรมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆไว้รองรับนักม่องเที่ยวต่างชาติเหล่านั้น

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เศรษฐกิจพม่าเติบโตขึ้นแม้ยังคงถูกประเทศตะวันตกลงโทษ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อบางคนและผลเสียต่อบางกลุ่มเช่นกัน นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนบางคนชี้ว่ามาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจทำให้อุตสาหกรรมบางอย่างของพม่าต้องล้มครืนลง เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ แรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านั้นจึงต้องผันตัวไปทำงานด้านอื่น เช่นงานในภาคความบันเทิงหรืองานบริการทางเพศ

คุณอ่อง ซอ บรรณาธิการของนิตยสารข่าว “อิรวดี” ระบุว่านักธรุกิจที่ร่ำรวย บรรดารัฐมนตรีและบริษัทของรัฐบาลพม่าต่างได้รับผลประโยชน์จากมาตรการลงโทษเศรษฐกิจซึ่งทำให้เกิดระบบผูกขาดในพม่า และว่าเศรษฐีเหล่านั้นไม่ต้องการให้ยกเลิกมาตรการลงโทษ ไม่ต้องการให้เกิดการแข่งขันเสรี เพราะต่างมีความสุขกับระบบผูกขาดในปัจจุบัน

XS
SM
MD
LG