ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สภาพการณ์ในพม่าทำให้ประชาชนหลายพันคนหนีข้ามแดนหาที่ปลอดภัยและงานในไทย


สภาพการณ์ในพม่าทำให้ประชาชนหลายพันคนหนีข้ามแดนหาที่ปลอดภัยและงานในไทย
สภาพการณ์ในพม่าทำให้ประชาชนหลายพันคนหนีข้ามแดนหาที่ปลอดภัยและงานในไทย

ทุกๆ ปี ประชาชนหลายพันคนหลบหนีการสู้รบและการก่อกวนรังควาญในพม่าข้ามแดนเข้ามาในไทยเพื่อหาที่ปลอดภัยและงาน ส่วนใหญ่ลงท้ายด้วยการทำงานตามไร่นาและโรงงานได้ค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และจำนวนมากกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัย อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพที่แออัดตามแนวพรมแดน ผู้อพยพจากพม่าเหล่านี้มีเป็นจำนวนมากกว่า 150,000 คน ปัญหาใหญ่ของผู้อพยพเหล่านี้คือ การได้รับการรับรองสถานภาพเป็นผู้อพยพลี้ภัย

ในแต่ละวัน มีประชาชนหลายร้อยคนข้ามแดนจากพม่าเข้ามาในประเทศไทย เพื่อหลบหนีการข่มเหงรังควาญ และหาช่องทางโอกาสความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จำนวนมากอาศัยอยู่ตามค่ายผู้อพยพที่แออัดบริเวณพรมแดน รวมทั้งที่อำเภอแม่สอด หลายคนได้ทำงานตามโรงงานต่างๆ อย่างโรงงานเสื้อผ้า ได้ค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ แต่สำหรับผู้อพยพเหล่านี้ พวกเขาเห็นว่า ดีกว่าในบ้านเกิดเมืองนอน

หลายคนได้งานทำที่แม่เตาคลีนิค ศูนย์รักษาพยาบาลในอำเภอแม่สอดซึ่งมีผู้มารับการบำบัดรักษาปีละราว 150,000 คน ราวครึ่งหนึ่งข้ามมาจากพม่า แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง ผู้อำนวยการแม่เตาคลีนิคกล่าวว่า จำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นปีละราว 15 % ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีคนมารับการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้นเท่านั้น คนที่มายังเป็นโรคที่ร้ายแรงขึ้น และจำนวนมากขึ้นเดินทางมาไกลจากภายในพม่า

แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง กล่าวว่า สถานการณ์ด้านบริบาลสุขภาพในภาคตะวันออกของพม่าเสื่อมลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการสู้รบอยู่เสมอระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพมักเล่าเรื่องราวน่าหวาดหวั่นเกี่ยวกับชีวิตในพม่า

คิตตี้ แม็คคินซีย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้อพยพลี้ภัยของสหประชาชาติ กล่าวว่า ชายวัยหนุ่มมักจะไม่นอนในบ้าน เพราะกลัวถูกทหารมาจับไปบังคับใช้แรงงาน และว่ามีการใช้คนเป็นเครื่องตรวจกับระเบิดโดยบังคับให้เดินนำหน้าทหารข้ามกับระเบิด

คิตตี้ แม็คคินซีย์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือ การที่ผู้อพยพจำนวนมากยังไม่ได้รับสถานภาพการเป็นผู้อพยพลี้ภัย ผู้อพยพในไทยจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกค่ายอย่างถูกต้องตามหมาย ผู้ที่หลบหนีออกมาจากพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่ได้รับสถานภาพการเป็นผู้อพยพลี้ภัยของสหประชาชาติมีราว 90,000 คนและยังรอรับสถานภาพดังกล่าวอีกราว 56,000 คน ประเทศไทยยอมรับให้คนเหล่านั้นพักพิงอยู่โดยถือว่าเป็นผู้พลัดถิ่น ซึ่งจะต้องกลับพม่าหรือเดินทางไปที่อื่น

องค์การระหว่างประเทศด้านการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน จัดให้ผู้อพยพจากพม่าได้มีที่อยู่ใหม่ไปแล้วราว 66,000 คนในเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐ องค์การนี้กล่าวว่า หากสถานการ์ในพม่ายังไม่ดีขึ้น ก็จะยังมีประชาชนหลบหนีข้ามแดนออกจากพม่าไปหาที่ที่ดีกว่าต่อไป

XS
SM
MD
LG