ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ออสเตรเลียกับไทยกดดันให้พม่าแก้ไขประวัติด้านสิทธิมนุษยชนและปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดก่อนเสนอตัวเป็นประธานสมาคมอาเซียน


ออสเตรเลียกับไทยกดดันให้พม่าแก้ไขประวัติด้านสิทธิมนุษยชนและปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดก่อนเสนอตัวเป็นประธานสมาคมอาเซียน
ออสเตรเลียกับไทยกดดันให้พม่าแก้ไขประวัติด้านสิทธิมนุษยชนและปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดก่อนเสนอตัวเป็นประธานสมาคมอาเซียน

ออสเตรเลียและไทยกำลังกดดันให้พม่าแก้ไขประวัติด้านสิทธิมนุษยชนรวมถึงปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดก่อนขึ้นเป็นประธานสมาคมอาเซียนในปี พ.ศ 2557 ภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียและของไทยที่กรุงเทพมหานคร

พม่าเคยถูกกดดันให้สละสิทธิ์ตำแหน่งประธานสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนมาแล้วเมื่อ 6 ปีก่อนเนื่องมาจากปัญหาด้านประวัติสิทธิมนุษยชนหลังจากนั้นรัฐบาลพม่าได้พยายามแสดงให้โลกเห็นถึงกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง รวมถึงการจัดเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว การมีรัฐสภาชุดใหม่ และการปล่อยตัวผู้นำฝ่ายค้าน นางออง ซาน ซูจี ออกจากการกักบริเวณ

อย่างไรก็ตามองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มยังคงเห็นว่า รัฐสภาชุดใหม่ของพม่ายังถูกควบคุมโดยทหารหรือพรรคการเมืองที่ทหารเป็นผู้หนุนหลัง ในขณะเดียวกันพม่ายังคงคุมขังนักโทษการเมืองมากกว่า 2 พันคน ตลอดจนมีการโจมตีชนกลุ่มน้อยต่างๆอย่างต่อเนื่อง

สำหรับข้อเสนอครั้งล่าสุดของพม่าที่ต้องการเป็นประธานสมาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าคือปี พ.ศ 2557 นั้น ว่ากันว่าได้ก่อให้เกิดการถกเถียงไม่น้อยในหมู่สมาชิกสมาคมอาเซียน โดยประธานสมาคมอาเซียนในปัจจุบัน นายมาร์ตี้ นาทาเลกาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย มีกำหนดจะเดินทางไปยังพม่าเพื่อตรวจสอบความพร้อมของพม่าในเร็ววันนี้

ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย นาย Kevin Rudd กล่าวภายหลังการหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยนายกษิต ภิรมย์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ในทัศนะของออสเตรเลียนั้นพม่าจำเป็นต้องสร้างความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะเสนอตัวเป็นประธานสมาคมอาเซียน และว่าที่ผ่านมาออสเตรเลียยินดีที่พม่าปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี แต่ก็ยังคงกังวลต่อการคุมขังนักโทษการเมืองราว 2 พันคนในพม่าอยู่ นอกจากนี้รัฐมนตรี Kevin Rudd ชี้ถึงประเด็นที่มีชนกลุ่มน้อยในพม่ามากกว่า 1 แสนคนอพยพลี้ภัยเข้ามาในฝั่งไทย เพื่อหนีการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับสมาชิกของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ

ส่วนทางรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยนายกษิต ภิรมย์ ชี้ว่าการที่จะประเมินว่าพม่าพร้มอสำหรับตำแหน่งประธานอาเซียนหรือไม่นั้น ควรพิจารณาประเด็นสำคัญร่วมด้วยโดยเฉพาะการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดในพม่า ความก้าวหน้าโดยรวมของเสรีภาพหรือการมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ตลอดจนการเจรจาระหว่างนางออง ซาน ซูจีกับรัฐบาลชุดใหม่ของพม่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการปรองดอง

ทางด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างแสดงความยินดีต่อจุดยืนของออสเตรเลียกับไทยในเรื่องนี้ โฆษกหญิงของกลุ่ม Alternative ASEAN Network คุณ Debbie Stothard ชี้ว่าพม่าไม่ควรได้รับอนุญาตให้เป็นประธานอาเซียนจนกว่าจะเกิดการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง และว่าหากพม่าได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนโยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปใดๆเกิดขึ้น ประเทศพันธมิตรสำคัญของอาเซียนเช่น ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐ อาจตัดสินใจคว่ำบาตรการประชุมของกลุ่มอาเซียนได้

XS
SM
MD
LG