ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานรางวัล Queen Elizabeth Prize แด่ผู้ที่มีผลงานด้านวิศวกรรมยอดเยี่ยม


สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2แห่งสหราชอาณาจักรทรงสถาปนาและพระราชทานรางวัลแด่ผู้ที่มีผลงานริเริ่มและสิ่งประดิษฐ์ด้านวิศกรรมยอดเยี่ยม ซึ่งหลายคนที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะมีฐานะเทียบเท่ากับรางวัลโนเบล ด้านวิทยาศาสตร์ โดยทรงพระราชทานรางวัลแรกในพระนามของพระองค์ให้กับนักวิทยาศาสตร์ 5 คนที่มีประดิษฐกรรมในการสร้างและพัฒนาระบบอินเทอร์เนทซึ่งมีผู้คนมากกว่า 1 ใน 3 ของโลกใช้ในปัจจุบัน

ที่พระราชวังบักกิ้งแฮม เมื่อเร็วๆนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร พระราชทานรางวัล Queen Elizabeth Prize แด่ผู้ที่มีผลงานด้านวิศกรรมยอดเยี่ยม พร้อมเงินมูลค่า 1 ล้านปอนด์สเตอริงเป็นครั้งแรก โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลคือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นและพัฒนาระบบอินเทอร์เนท 5 คน คือ คุณโรเบิร์ต คาห์น (Robert Kahn) และ Vincent Cerf ชาวอเมริกัน รวมทั้งหลุยส์ ปูซาน Louis Pouzin ชาวฝรั่งเศส 3 ทีมนักวิจัยที่คิดค้นระบบขั้นตอนการสื่อสารทางอินเทอร์เนทขั้นพื้นฐาน หรือ Internet Basic Protocal ซึ่งได้รับรางวัลร่วมกับคุณ Tim Berners-Lee นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้สร้าง Worldwide Web และ Marc Andreesen ผู้คิดค้น web browser เป็นคนแรก

ผลงานของทั้ง 5 คนมีส่วนที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จักความหมายของคำว่าไร้พรมแดนอย่างแท้จริงผ่านระบบอินเทอร์เนทที่เชื่อมโยงโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน ในยุคเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารที่ทรงพลังและปัจจุบันมีผู้คนมากกว่า 1 ใน 3 ของโลกเข้าถึงและใช้อินเทอร์เนทอยู่เป็นประจำ
คุณRobert Kahn ผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัล Queen Elizabeth Prize ด้านวิศวกรรมศาสตร์บอกว่า แม้อินเทอร์เนทจะมีส่วนสำคัญต่อชีวิตผู้คนอย่างมาก แต่มีน้อยคนที่จะเข้าใจอินเทอร์เนทหรือศึกษาอย่างถ่องแท้

Robert Kahn บอกว่า มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ทราบจริงๆว่าอินเทอร์เนทนั้นคืออะไรกันแน่ แต่สำหรับเขานั้น บอกว่า อินเทอร์เนทเป็นกระบวนการสื่อสารที่สามารถเชื่อมโยงให้ทุกอย่างทำงานไปร่วมกัน เป็นเครือข่าย ทั้งคอมพิวเตอร์ หรือ แอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งในระยะแรกของการคิดค้นอินเทอร์เนทนั้นหลายคนไม่คิดว่าจะใช้ได้จริง แต่ทุกวันนี้อินเทอร์เนทกลับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้คนทั่วโลกไปแล้ว

ขณะที่คุณ Vincent Cerf หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้คิดค้นระบบ Internet Basic Protocal ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายของ Google บอกว่า สำหรับตัวเขาแล้ว สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การคว้ารางวัลนี้ แต่อยู่ที่ความเป็นรางวัลที่ปรากฏภายใต้พระนามของสมเด็จพระราชินี อ Queen Elizabeth ที่ยกระดับความสำคัญของรางวัลทางด้านวิศวกรรมขึ้นมาเทียบเท่ากับรางวัล Nobel Prize ได้

ผู้คว้ารางวัล Queen Elizabeth Prize ทั้งสองคน บอกว่า แม้จะพอใจที่ผู้คนจากทั่วโลกหันมาใช้สิ่งที่พวกเขาคิดค้นคืออินเทอร์เนทกันมากมาย แต่ก็ยังคงมีหลายสิ่งที่ต้องพัฒนา รวมไปถึงประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เนท โดยเฉพาะประเด็นร้อนๆเกี่ยวกับการเปิดโปงการเรียกเก็บข้อมูลทางอินเทอร์เนทและการเก็บข้อมูลส่วนตัวของทางการสหรัฐด้วยเหตุผลเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้

คุณ Vincent บอกว่า สังคมผู้ใช้อินเทอร์เนทกำลังอยู่ในระหว่างทางของวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสังคมจะต้องเริ่มเรียนรู้ว่าสิ่งไหนที่จะยอมรับได้หรือไม่ได้ในโลกอินเทอร์เนท หรือว่าสิ่งไหนที่ควรจะระบุว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม สิ่งไหนที่ควรมีมาตรการลงโทษ
ส่วนคุณคาห์น บอกว่า ปัญหาความเป็นส่วนตัวหรือความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เนทนั้นแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ และว่า การใช้อินเทอร์เนทในสังคมแบบประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถคลิกไปเรื่อยๆบนหน้าจอเท่านั้น แต่ก็ควรระมัดระวังและใส่ใจกับทุกการกระทำบนอินเทอร์เนทด้วย เขาบอกด้วยว่าเทคโนโลยีต่างๆที่คิดค้นขึ้นมานั้นมีทั้งในด้านบวกและด้านลบ รวมถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เนทด้วย อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่า นวัตกรรมอินเทอร์เนทที่พวกเขาคิดค้นจะยังคงเป็นที่ต้องการและรองรับต่อผู้คนต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ถึงแม้ว่าจะมีใช้มาแล้วถึง 40 ปีก็ตาม
XS
SM
MD
LG