ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: ‘บาร์บี’ โหมไฟกรณีพิพาทเขตแดนทางทะเล เวียดนาม-จีน


South Korea Vietnam Barbie Ban
South Korea Vietnam Barbie Ban

กรณีการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ ‘บาร์บี’ จากค่ายวอร์เนอร์บราเธอส์ โดยทางการเวียดนาม เนื่องจากเหตุผลว่า มีภาพของแผนที่ที่สนับสนุนการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ของกรุงปักกิ่ง คือ การตอกย้ำตำนานข้อพิพาทระหว่างสองประเทศที่ดำเนินมานานแล้ว ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ

ปราชานธ์ ปรเมศวรัณ ผู้ก่อตั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ASEAN Wonk และนักวิชาการในโครงการเอเชียศึกษาของ Wilson Center กล่าวว่า ท่าทีของเวียดนามที่สั่งห้ามฉายภาพยนตร์ดังกล่าวส่งสัญญาณอันแข็งกร้าวออกมาว่า รัฐบาลกรุงฮานอยไม่ยอมรับเส้นประ 9 เส้นที่จีนใช้อ้างว่าเป็นจุดกำหนดอาณาเขตของตนในทะเลจีนใต้ และยังเป็นการบอกว่า เวียดนามจะทำการใด ๆ ก็ตามเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการยึดถือจุดยืนนี้ให้ได้

วี เคียน ธานห์ หัวหน้าแผนกภาพยนตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและท่องเที่ยวของเวียดนาม ให้ความเห็นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ว่า การสั่งห้ามฉายภาพยตร์ ‘บาร์บี’ นั้น เป็นเรื่องของการ “ควบคุมจำกัดภาพของเส้นประ 9 เส้นที่ทำให้รู้สึกถึงการล่วงละเมิด”

Chinese tourists wearing 9-dash line T-shirts (screenshot of Tuoi Tre website
Chinese tourists wearing 9-dash line T-shirts (screenshot of Tuoi Tre website

และหลังเวียดนามประกาศการตัดสินใจสั่งห้ามฉายออกมา บริษัทวอร์เนอร์บราเธอส์ ออกมาแถลงในวันที่ 6 กรกฎาคมว่า จุดประที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพียง “เส้นลากของดินสอสีแบบที่เด็ก ๆ เขียนขึ้นมาสนุก ๆ” เพื่อแสดงให้เห็นถึง “เส้นการเดินทางสมมติจากดินแดนบาร์บีมายังโลกของความเป็นจริง” เท่านั้น และไม่ได้หมายถึงเส้นประ 9 เส้นของจีนเลย

แม้คำอธิบายนี้จะไม่ช่วยเปลี่ยนใจเวียดนามให้ยกเลิกคำสั่งห้ามฉาย เหตุผลนี้ดูจะเพียงพอให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดหมวดหมู่ภาพยนตร์ของฟิลิปปินส์ให้ไฟเขียวการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้พร้อมการระบุว่า ทางหน่วยงานได้ทำการตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างเท่าที่มีแล้วก่อนจะทำการตัดสินใจให้คำอนุญาต แต่ก็จะขอให้ทางวอร์เนอร์บราเธอส์ทำการเบลอภาพที่แสดงให้เห็นแผนที่เจ้าปัญหานี้ด้วย

แต่นอกจากประเด็นภาพยนตร์ ‘บาร์บี’ แล้ว เมื่อสัปดาห์แล้ว เวียดนามมีคำสั่งให้ตรวจสอบเว็บไซต์ของบริษัท iMe ซึ่งเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตของ Blackpink เกิร์ลกรุ๊ปเคป๊อปชั้นนำที่มีกำหนดจัดขึ้นเดือนนี้ที่กรุงฮานอย เนื่องจากมีการนำภาพแผนที่ทะเลจีนใต้ที่มีเส้นประ 9 เส้นออกมาใช้ในการโปรโมทคอนเสิร์ต

และเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ฟาม ธู ฮาง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ออกมากล่าวว่า “การโปรโมทและการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสิ่งพิมพ์ที่นำเสนอเส้นประ 9 เส้นในเวียดนาม คือ การทำผิดกฎหมายเวียดนามและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” ก่อนที่ บริษัท iMe จะออกมาขอโทษต่อสิ่งที่ระบุว่าเป็น “ความเข้าใจผิดที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น” และสัญญาว่าจะทำการเปลี่ยนภาพทั้งหมดที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ชมเวียดนามด้วย ตามการรายงานของสื่อ Tuoi Tre News

ต่อมาในสัปดาห์นี้ รัฐบาลกรุงฮานอยเพิ่งสั่งบริษัทผู้ให้บริการสตรีมมิง เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ถอดซีรีส์โรแมนติกสัญชาติจีนเรื่อง Flight to You ออกจากการฉายในเวียดนาม เนื่องจากมีหลายฉากที่แสดงให้เห็นถึงแผนที่เส้นประ 9 เส้นอยู่ และบริษัทแห่งนี้ก็ยอมปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ตามรายงานของสื่อบันเทิง Variety

จากกรณีทั้งหมดที่กล่าวมา คลีโอ ปาสกาล นักวิชาการจากโครงการจีนของ Foundation for Defense of Democracies ให้ความเห็นว่า “นี่เป็นประเด็นเรื่องอธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติสำหรับเวียดนาม – ที่เป็นเรื่องของการมองว่า ประเทศกำลังถูกคุกคามโจมตี ซึ่งรวมถึงกรณีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนรุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำของตนอยู่เป็นประจำด้วย” และว่า “เวียดนามก็กำลังส่งสัญญาณไปยังเพื่อนบ้านทั้งหลายว่า การลุกขึ้นมาต่อต้านจีนนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

ประเด็นเส้นประ 9 เส้นนั้นเป็นต้นเหตุของข้อพิพาทที่มีการนำไปฟ้องต่อคณะตุลาการระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ซึ่งได้มีคำพิพากษาออกมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2016 แล้วว่า จีนไม่สามารถใช้แผนที่ดังกล่าวเป็นตัวกำหนดเขตแดนทางทะเลขอตน

เบทส์ กิลล์ ผู้อำนวยการบริหารของ Center for China Analysis แห่ง Asia Society ระบุในอีเมลที่ส่งให้กับวีโอเอ ว่า “ในแผนที่อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งที่เรียกว่าเป็นเส้นประ 9 เส้นนั้นถูกลากล้อมรอบพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ อันเป็นการส่งสัญญาณว่า พื้นที่อันกว้างใหญ่ภายในเส้นนี้เป็นของจีน”

South China Sea
South China Sea

และหลังมีการประกาศคำพิพากษานี้ออกมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไน ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่รอบ ๆ เส้นประ 9 เส้น พร้อมใจกันปฏิเสธคำกล่าวอ้างของจีนทันที

อย่างไรก็ดี เรือของจีนยังคงรุกล้ำมาในพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone – EEZ) ของประเทศต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ เพื่อยืนยันคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลของจีนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ พื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะนั้น คือ พื้นที่ที่ห่างจากชายฝั่งของแต่ละประเทศเป็นระยะทาง 200 ไมล์ทะเล

อินเดียกลับลำ

เมื่อเดือนที่แล้ว จีนประกาศเปลี่ยนจุดยืนของตนและขอสนับสนุนคำพิพากษาของคณะตุลาการระหว่างประเทศในปี ค.ศ. 2016 ผ่านแถลงการณ์ร่วมกับฟิลิปปินส์

สุพราหมณญาม ไจชานการ์ รัฐมนตรีกิจการภายนอกของอินเดีย และ เอริเก มานาโล รัฐมนตรีต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ระบุในแถลงการณ์ดังกล่าวหลังการประชุมที่กรุงนิวเดลี ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน ว่า ข้อพิพาทเรื่องเส้นประ 9 เส้นนั้นควรได้ข้อยุติตามคำพิพากษาปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศจีนบอกปัดว่า “เป็นโมฆะและไม่มีผลบังคับใช้ใด ๆ”

INDIA-POLITICS-SCO
INDIA-POLITICS-SCO

วีโอเอ ได้ติดต่อไปยังสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันในวันศุกร์และได้รับแจ้งให้ติดต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศจีนแทนเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับการที่เวียดนามปฏิเสธเส้นประ 9 เส้นในภาพยนตร์ ‘บาร์บี’

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวไว้ว่า “ประเทศที่เกี่ยวข้องไม่ควรโยงประเด็นทะเลจีนใต้เข้ากับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมตามปกติ”

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG