ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประชาคมโลกไม่เชื่อมั่นต่อการเลือกตั้งในบังกลาเทศวันอาทิตย์นี้ หลังจากพรรคฝ่ายค้านประกาศไม่ร่วมการเลือกตั้ง


ชาวบังกลาเทศจะเดินเข้าคูหาเลือกตั้งในวันอาทิตย์ แต่การที่พรรคฝ่ายค้านประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ทำให้เกิดคำถามถึงความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งครั้งนี้

บรรยากาศทั่วไปในกรุงดักการ์ของบังกลาเทศในขณะนี้ ดูไม่เหมือนว่ากำลังจะมีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้า คือแทบไม่มีป้ายแนะนำผู้สมัครหรือการเดินหาเสียงใดๆเกิดขึ้น หลังจากที่พรรคฝ่ายค้านบังกลาเทศได้ประกาศคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง ทำให้พรรครัฐบาล Awami League Party ได้ครองที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐสภา คือ 154 ที่นั่งจาก 300 ที่นั่ง โดยไม่ต้องทำการแข่งขัน และดูเหมือนว่าการเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้จะเป็นกระบวนการที่ไร้ความหมายไปเสียแล้ว

ศาสตราจารย์ Imtiaz Ahmed แห่งภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย Duke ในสหรัฐฯ ให้ความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองในบังกลาเทศขณะนี้ว่า การที่ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่า 50% ตกเป็นของพรรครัฐบาลแบบไม่มีคู่แข่งนั้น แสดงให้เห็นถึงปัญหาการเมืองที่หนักหนาสาหัสในบังกลาเทศ
ปัจจุบัน บรรยากาศทางการเมืองในประเทศแถบเอเชียใต้ประเทศนี้ค่อนข้างเปราะบาง เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการประกาศจัดการเลือกตั้งตั้งแต่เดือน พ.ย ปีที่แล้ว ผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตระหว่างการเดินขบวนประท้วงและปะทะกับตำรวจ รัฐบาลได้สั่งให้กองทัพเข้าช่วยควบคุมสถานการณ์ กรุงดักการ์ถูกตัดขาดจากพื้นที่ส่วนอื่นของประเทศหลังจากรัฐบาลสั่งห้ามรถโดยสาร เรือเฟอร์รี่หรือรถไฟเดินทางเข้าไปในเขตเมืองหลวงในช่วงเวลานี้

พรรคฝ่ายค้านประกาศไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งโดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลจัดการเลือกตั้งโดยไม่แต่งตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเสียก่อนดังที่เคยปฏิบัติกันมา ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าการที่พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ก่อนหน้านี้ ทำให้พรรคฝ่ายค้านรู้ดีว่าจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ได้

ด้านสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และเครือจักรภพอังกฤษ ต่างปฏิเสธไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตุการณ์การเลือกตั้งในบังกลาเทศในวันอาทิตย์ มีแต่ข้อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส และขอให้รัฐบาลบังกลาเทศเร่งคลี่คลายปัญหาการเมืองโดยเร็ว

ศาสตราจารย์ Amena Moshin แห่งมหาวิทยาลัย Duke อีกผู้หนึ่ง แนะนำว่าในที่สุดแล้วนายกฯ Sheikh Hasina ควรยินยอมให้รัฐบาลรักษาการณ์ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย นักวิเคราะห์ผู้นี้ระบุว่า เวลานี้ประชาคมโลกต่างคิดว่าการเลือกตั้งในบังกลาเทศครั้งนี้ไม่น่าเชื่อถือ และเป็นการแก้ปัญหาแบบชั่วคราว และเมื่อมีแรงกดดันจากภายนอกมากขึ้น จะทำให้มีการแต่งตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อควบคุมดูแลการเลือกตั้งอีกครั้ง

แม้ภาวะชะงักงันทางการเมืองเช่นนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในบังกลาเทศ เพราะที่ผ่านมาต่างเกิดการปะทะทางการเมืองหลายครั้งระหว่างพรรคใหญ่ 2 พรรคของบังกลาเทศตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนชี้ว่า วิกฤติทางการเมืองของบังกลาเทศครั้งล่าสุดนี้ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่บังกลาเทศเคยเผชิญ

รายงานจาก Anjana Pasricha / เรียบเรียงโดย ทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG