ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติหรือ FAO จัดการประชุมที่กรุงเทพมหานคร


องค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติหรือ FAO จัดการประชุมที่กรุงเทพมหานคร
องค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติหรือ FAO จัดการประชุมที่กรุงเทพมหานคร

องค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติหรือ FAO จัดการประชุมที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 วันเพื่อหารือถึงมาตรการที่จำเป็นในการปกป้องคนยากจนและป้องกันไม่ให้ราคาอาหารสูงเกินการควบคุม พร้อมเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาราคาอาหารแพงในเอเชีย

ผู้แทนจากประเทศในเอเชีย 20 ประเทศ และจากองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมประชุมที่กรุงเทพมหานครในวันพุธเพื่อหารือเรื่องมาตรการควบคุมราคาอาหารแพง องค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติหรือ FAO เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซึ่งจะใช้เวลา 2 วัน

FAO ระบุว่าราคาอาหารหลักเช่นข้าวและธัญพืชต่างๆในบังกลาเทศเพิ่มขึ้น 33% จากปีที่แล้ว ส่วนที่จีนและอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นราว 23% อย่างไรก็ตามที่ประชุมคาดว่าราคาข้าวปีนี้น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ได้แก่ไทยและเวียดนามรายงานผลผลิตข้าวเป็นที่น่าพอใจ แต่ FAO เตือนว่าราคาน้ำมันโลกที่กำลังสูงขึ้นอาจส่งผลให้ราคาข้าวขยับเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

คุณ Hiroyuki Konuma ผู้แทนของ FAO ฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกกล่าวว่า ประชาชนยากจนในเอเชียที่มีค่าใช้จ่ายด้านอาหารถึง 70% ของรายได้ทั้งหมด คือผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาราคาอาหารแพง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งในเวลานั้นวิกฤตการณ์ด้านอาหารและด้านเศรษฐกิจส่งผลให้มีประชากรโลกมากกว่า 100 ล้านคนกลายเป็นผู้อดอยากหิวโหย คุณ Konuma ระบุว่าเอเชียกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน เนื่องมาจากราคาอาหารแพงและผันผวนตลอดเวลา

วิกฤติการณ์ด้านอาหารเมื่อ 3 ปีก่อนทำให้หลายประเทศในเอเชียกักตุนอาหารและระงับการส่งออกธัญพืชต่างๆชั่วคราว ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งคุณ Ertharin Cousin ฑูตสหรัฐประจำ FAO ชี้ว่าประเทศต่างๆต้องหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการในลักษณะดังกล่าว

ฑูตสหรัฐประจำ FAO แนะนำว่าในระยะสั้นควรใช้มาตรการอื่นเพื่อลดความเสี่ยงจากราคาอาหารแพง เช่นร่วมมือกันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการผลิตและการเก็บสำรองอาหาร ใช้มาตรการจัดสรรโควต้าหรือมาตรการทางภาษีที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการกว้านซื้อและกักตุนอาหาร ตลอดจนใช้มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความผันผวนด้านราคา

ในปีนี้สมาคมอาเซียน จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้จัดตั้งกองทุนข้าวสำรองเชิงยุทธศาสตร์เผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ในขณะที่สมาคมความร่วมมือประเทศแถบเอเชียใต้ระบุว่าได้เพิ่มปริมาณอาหารสำรองแล้วและยังมีแผนก่อตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชแห่งเอเชียใต้ด้วย คุณ Javed Hussain Mir ผอ.ฝ่ายเอเชียแปซิฟิกของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB ชี้ว่า มาตรการต่างๆที่ว่านี้แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันเอชียมีการตอบสนองเป็นอย่างดีต่อปัญหาราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้น และว่านั่นคือสิ่งสำคัญสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารโลกทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ที่ต้องพยายามร่วมมือกันรับมือกับปัญหามากกว่าครั้งไหนๆ

องค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติชี้ว่าในระยะยาวนั้น รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศต้องช่วยกันเพิ่มการลงทุนในภาคการเกษตรและการผลิตอาหารซึ่งถูกเพิกเฉยมานาน FAO ระบุว่าปัจจุบันสัดส่วนงบประมาณและเงินช่วยเหลือด้านการเกษตรอยู่ที่ระดับเพียง 5% ของงบประมาณและเงินช่วยเหลือทั้งหมด ลดลงอย่างน่าใจหายจากระดับ 20% เมื่อช่วง 30 ปีที่แล้ว

XS
SM
MD
LG