ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหภาพยุโรปอาจจะยื่นใบแดงให้เกาหลีใต้ ซึ่งจะทำให้เกาหลีใต้ไม่สามารถส่งออกอาหารทะเลไปยังยุโรปได้


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:36 0:00
Direct link

เดือนหน้าเกาหลีใต้อาจเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกที่ถูกห้ามส่งออกอาหารทะเลไปขายในยุโรป หลังจากที่สหภาพยุโรปเริ่มรณรงค์ปราบปรามการทำประมงผิดกฏหมายอย่างจริงจัง ขณะที่สหรัฐก็กำลังให้ความสนใจใช้มาตรการห้ามนำเข้าอาหารทะเลที่มาจากการทำประมงผิดกฏหมายเช่นกัน

เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีใต้ กาน่า และคาราเคา ได้รับใบเหลืองซึ่งหมายถึงคำเตือนสุดท้ายจากสหภาพยุโรป แต่เรือประมงที่ติดธงเกาหลีใต้ยังคงละเมิดกฏเกณฑ์ด้านการประมงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแถบชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกา ซึ่งอาจทำให้เกาหลีใต้ถูกลงโทษหนักยิ่งขึ้นในปีนี้ เมื่อเดือน มี.ค ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้แจกใบแดงให้กับเบลีซ กัมพูชา และกินี ซึ่งหมายถึงห้ามขายอาหารทะเลให้กับประเทศในสหภาพยุโรป รวมทั้งห้ามทำประมงในน่านน้ำของสมาชิกสหภาพยุโรปด้วย

คุณ Steve Trent แห่งมูลนิธิ Environmental Justice Foundation หรือ EJF ซึ่งติดตามตรวจสอบการขายอาหารทะเลที่มาจากการประมงผิดกฏหมาย กล่าวยกย่องมาตรการล่าสุดของสหภาพยุโรป และว่าสหภาพยุโรปกำลังส่งสัญญาณไปถึงเกาหลีใต้ว่า ที่ทำมานั้นยังไม่พอ และหากไม่ทำอะไรมากกว่านี้ก็จะถูกลงโทษหนักขึ้น

ตั้งแต่ปี ค.ศ 2010 EJF ได้รวบรวมคดีที่เรือประมงเกาหลีใต้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฏเกณฑ์การประมงกว่า 200 คดีในแถบชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกา รวมทั้งคดีทำประมงในเขตปกป้องพันธุ์สัตว์น้ำ การหลบหนีเรือเจ้าหน้าที่ การปฏิเสธที่จะจ่ายค่าปรับ การขนถ่ายสัตว์น้ำผิดกฏหมายกลางทะเล และการทำร้ายชาวประมงท้องถิ่น นอกจากนี้ เรือประมงบางลำยังใช้แรงงานเด็กอายุ 14 ปีให้ทำงานรอนแรมอยู่บนเรือนานนับเดือน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย

ขณะเดียวกันรายงานการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Policy ระบุว่า อาหารทะเลจำนวนมากที่นำเข้าสหรัฐมาจากการทำประมงผิดกฏหมาย กล่าวคือ 40% ของปลาทูน่าที่มาจากประเทศไทยและปลาแซลม่อนราว 70% จากจีน ถือเป็นปลาผิดกฏหมายหรือไม่มีเอกสารรับรองการส่งออก

คุณ Pramod Ganapathiraju นักวิจัยที่ศูนย์ศึกษาการประมง University of British Columbia ผู้จัดทำรายงานวิจัยดังกล่าวชี้ว่า สหรัฐและประเทศผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ควรเพิ่มเจ้าหน้าที่ควบคุมตรวจตราอาหารทะเลที่มาจากการประมงผิดกฏหมายมากยิ่งขึ้น

รายงานของรัฐบาลสหรัฐเมื่อปี ค.ศ 2009 ระบุว่ามีอาหารทะเลที่นำเข้าสหรัฐเพียง 2% เท่านั้นที่ถูกตรวจสอบตามท่าเรือต่างๆ ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่อื่นๆแทบไม่มีข้อมูลในด้านนี้
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐสภาสหรัฐมีมติรับรองข้อตกลงใหม่ของสหประชาชาติเพื่อป้องกันไม่ให้เรือประมงที่น่าสงสัยเข้าจอดตามท่าเรือในประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อาหารทะเลผิดกฏหมายเล็ดลอดเข้าสู่ตลาดโลกได้ แต่ยังต้องรอการรับรองจากอีก 14 ประเทศก่อนที่ข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการนำระบบดาวเทียมมาใช้ติดตามจับกุมเรือประมงที่ทำผิดกฎหมายด้วย

คุณ Steve Trent แห่งมูลนิธิ Environmental Justice Foundation ชี้ว่าในอนาคต จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งและกำลังมีการเติบโตของตลาดอาหารทะเลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการประมงผิดกฏหมาย คุณ Trent ระบุด้วยว่าแนวทางที่รัฐบาลจีนจะนำมาใช้การรับมือกับอาหารทะเลที่มาจากการประมงผิดกฏหมายในตลาดโลก จะช่วยขีดบรรทัดฐานในการจัดทำนโยบายของประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน

รายงานจาก Steve Herman / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล
XS
SM
MD
LG