ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานการศึกษาเรื่องโรค AIDS ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตเพราะโรคนี้เพิ่มขึ้นในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


รายงานการศึกษาเรื่องโรค AIDS ใน 187 ประเทศทั่วโลกกล่าวว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่ไปสำรวจ มีอัตราการเสียชีวิตเพราะโรคนี้เพิ่มขึ้น สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น หลายประเทศประสบความสำเร็จ แต่อีกหลายประเทศ ซึ่งรวมทั้งอินโดนีเซีย เวียตนาม และฟิลิปปินส์ดูอนาคตไม่สดใส

สถาบัน Health Metrics and Evaluation (IHME) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในรัฐวอชิงตันของสหรัฐเป็นผู้ดำเนินการศึกษาเรื่องนี้ และผู้เขียนรายงาน Katrina Ortblad ให้สัมภาษณ์กับ VOA ผ่าน Skype ว่า อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นใน 98 ประเทศ และแม้บางประเทศที่เคยมีปัญหาเรื่องนี้อย่างมาก จะประสบความสำเร็จในการรณรงค์ต่อสู้โรคนี้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เชื้อไวรัส HIV ที่ทำให้เป็นโรค AIDS กำลังระบาดไปในกลุ่มประชากรที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้มาก่อน เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตเพราะโรคนี้เพิ่มขึ้น คือ อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และเวียตนาม

ลักษณะการแพร่ระบาดของโรค AIDS ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แตกต่างไปจากแอฟริกา โดยเฉพาะในตอนใต้ของทะเลทรายซะฮาร่า ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคโดยทั่วไป ในทุกกลุ่มคน

ในขณะที่การแพร่ระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า การระบาดแบบเข้ม กล่าวคือเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่ม เช่นกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ ผู้ที่ฉีดยาเสพติด และผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน

รายงานของ[ 1] IHME ยังได้เปรียบเทียบผลกระทบของโรค AIDS กับโรคอื่นๆ เช่นโรคหัวใจ ไข้จับสั่น และโรคท้องร่วง โดยอาศัยข้อมูลจากโครงการ AIDS ของสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก และพบว่าเวลานี้ โรค AIDS เป็นภาระทางสุขภาพต่อโลกในอันดับที่ 5 ตามหลังโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ โรคเส้นโลหิตอุดตัน และโรคท้องร่วง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว โรค AIDS อยู่ในอันดับที่ 33

รายงานฉบับนี้ ยังระบุชื่อประเทศที่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ต่อต้านโรค AIDS ไว้ด้วย

Katrina Ortblad ผู้เขียนรายงานเรื่องโรค AIDS กล่าวว่า กัมพูชา ประเทศไทย และมัลดีฟ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก กัมพูชานั้นสามารถลดการแพร่ระบาดลงได้มากถึง 86% หลังจากที่เพิ่มขึ้นถึงจุดสูงสุดเมื่อราวๆ สิบปีที่แล้ว

ส่วนประเทศไทยนั้น เป็นตัวอย่างที่ดีแต่ยังจะต้องทำงานต่อไปอีก เพราะเชื้อ HIV ยังเป็นภาระทางสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ และอัตราการเสียชีวิตก็ยังอยู่สูงที่ 4.4%

ในขณะที่พม่านั้น แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลง แต่อัตราการเสียชีวิตก็ยังอยู่สูงที่ 5%

รายงานของสถาบัน Health Metrics and Evaluation (IHME) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า การรับประกันการเข้าถึงยาต้านเชื้อไวรัส HIV ทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลงมาอยู่ที่ 4% ขณะนี้

รายงานเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้การศึกษาเกี่ยวกับโรค AIDS การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัส HIV จากมารดาไปสู่บุตรในระหว่างการคลอด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมาตรการสำคัญและจะต้องมีเงินทุนให้การสนับสนุนอย่างพอเพียงเพื่อให้การรณรงค์ต่อต้านโรคร้ายนี้ ก้าวหน้าต่อไปได้
XS
SM
MD
LG