ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลสำรวจชี้ 'ปัญหาการคอรัปชั่น' ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาของหลายประเทศในเอเชีย


FILE - In this Feb. 20, 2017 photo, Donald Tsang, former leader of Hong Kong, is escorted in a prison bus leaving the high court after sentencing and mitigation after his conviction for misconduct in public office, in Hong Kong.
FILE - In this Feb. 20, 2017 photo, Donald Tsang, former leader of Hong Kong, is escorted in a prison bus leaving the high court after sentencing and mitigation after his conviction for misconduct in public office, in Hong Kong.
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:07 0:00

รายงานสำรวจด้านปัญหาการคอรัปชั่นในเอเชีย ระบุว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาของหลายประเทศในเอเชีย แม้ว่าโครงการต่อต้านการคอรัปชั่นในบางประเทศ เช่น ประเทศจีน จะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้นก็ตาม

รายงานสำรวจที่จัดทำโดยองค์กร Transparency International และศูนย์ Political and Economic Risk (PERC) ในฮ่องกง ซึ่งเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ชี้ว่า “การรับรู้และความตื่นตัวในปัญหาคอรัปชั่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหมู่ชาวเอเชีย ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา”

ถึงกระนั้นรายงานชิ้นนี้ระบุว่า ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศในเอเชีย

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น คือประเทศที่ประสบปัญหาคอรัปชั่นในระดับต่ำ ขณะที่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีปัญหาคอรัปชั่นที่น่าเป็นห่วง

asia-corruption-
asia-corruption-

ในส่วนของจีน รายงานชี้ว่าดูเหมือนปัญหาการคอรัปชั่นเริ่มลดลงหลังจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ใช้นโยบายปราบปรามคอรัปชั่นในทุกระดับ แต่ PERC ก็ระบุว่ายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เนื่องจากการคอรัปชั่นได้ครอบคลุมไปทั่วทั้งสังคมจีน

ขณะที่ Transparency International บอกว่า ชาวจีนเกือบ 3 ใน 4 เชื่อว่าระดับการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งก็ได้พยายามใช้มาตรการหลายอย่างในการปราบปราม เช่น การเพิ่มบทลงโทษสำหรับคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงและรับสินบน และปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการแข่งขันอย่างไม่ยุติธรรม เป็นต้น

สำหรับอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาการคอรัปชั่นมากที่สุดจากการสำรวจครั้งนี้ รายงานชี้ว่าแม้ชาวอินเดียส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าไม่มีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นมากนัก แต่ก็ได้ยกย่องแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นของรัฐบาลนายกฯ นเรนธรา โมดี เช่น การยกเลิกใช้ธนบัตรมูลค่าสูงในอินเดีย

ทางด้านประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวรวดเร็ว เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา รายงานบอกว่าประชาชนยังมีความตื่นตัวน้อยเกี่ยวกับปัญหาคอรัปชั่น

รศ. ดร. ภวิดา ปานะนนท์ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

"บรรดานักลงทุนในประเทศเหล่านี้ต่างยอมรับการคอรัปชั่นในระดับหนึ่ง ว่าเป็นต้นทุนหรือความเสี่ยงในการลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตนี้"

อย่างไรก็ตาม รศ. ดร. ภวิดา ปานะนนท์ ให้ความเห็นว่า "ความมั่นใจของภาคธุรกิจนั้นจะลดลง หากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการฉ้อฉลหรือติดสินบนนั้นจะบานปลายไปถึงขั้นไหน"

ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย รายงานสำรวจของ Transparency International และศูนย์ Political and Economic Risk (PERC) ชี้ว่า คนไทยส่วนใหญ่มองโครงการต่อต้านคอรัปชั่นของรัฐบาลชุดปัจจุบันในแง่บวก โดย 72% ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าปัญหาการคอรัปชั่นได้ลดลงภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ 14% มองว่ามีการคอรัปชั่นเพิ่มขึ้น

โดย PERC ระบุว่า งานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าได้สรุปไว้ว่า มูลค่าเงินสินบนที่องค์กรต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทย ได้ลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี

ด้าน ดร.บัณฑิต นิจถาวร แห่งสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า

"ขณะนี้โครงการต่างๆ ในการต่อต้านการคอรัปชั่นมีความก้าวหน้าไปมาก ด้วยความร่วมมือของรัฐบาล ภาคธุรกิจและประชาชน"

ดร.บัณฑิต ระบุด้วยว่าปัญหาคอรัปชั่นในไทยเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและทำกันอย่างเป็นระบบ จึงต้องอาศัยทุกฝ่ายในการช่วยกันแก้ไขจัดการ

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาดูแลคดีคอรัปชั่นโดยเฉพาะ และได้ตัดสินคดีใหญ่ๆ ไปแล้วหลายคดี รวมถึงคดีของอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จุฑามาศ ศิริวรรณ ที่ถูกตัดสินจำคุก 50 ปี และคดีผู้บริหารการบินไทยรับสินบนจากบริษัทผลิตเครื่องยนต์โรลล์สรอยซ์ของอังกฤษ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในขณะนี้

(ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG