ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานวิเคราะห์: ญี่ปุ่นเพิ่มบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน


Thailand's Prime Minister Prayuth Chan-ocha and Japan's Minister of Foreign Affairs Fumio Kishida
Thailand's Prime Minister Prayuth Chan-ocha and Japan's Minister of Foreign Affairs Fumio Kishida

ญี่ปุ่นประกาศเพิ่มบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งในการพัฒนา และในการรักษาความมั่นคง

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:18 0:00
Direct link

รัฐมนตรี Fumio Kishida ของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวในคำปราศรัยที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร สัปดาห์ที่แล้วว่า ญี่ปุ่นจะจัดทำโครงการสามปี เรียกว่า Japan-Mekong Connectivity Initiative เพื่อส่งเสริมโครงสร้างทางเศรษฐกิจมูลค่าเกือบ 7 พันล้านดอลลาร์ ในบริเวณภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรวมบริเวณในเวียดนาม ลาว และประเทศไทย

เมื่อกว่าสองปีที่แล้ว ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือกลุ่มภาคีอาเซียนผ่านทาง Official Development Assistance (ODA) เป็นมูลค่าสองล้านล้านเยน ในช่วงเวลาห้าปี รวมทั้งให้เงินสนับสนุนการรวมตัวของประชาคมอาเซียนด้วยเงินทุนอีก 100 ล้านดอลลาร์

รศ. ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับผู้สื่อข่าว VOA ว่า การเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรี Kishida ครั้งนี้ ก็เพื่อจะเน้นย้ำว่า ญี่ปุ่นยังไม่หายไปไหน และจะไม่ละเลยการลงทุนระยะยาวของตนในโครงการต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นไว้ว่า การประชุมสุดยอดความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง ที่จีนเป็นเจ้าภาพในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นความพยายามล่าสุดของปักกิ่งที่จะเพิ่มความผูกพันกับประเทศต่างๆ ในบริเวณอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะกับกัมพูชา ลาว ประเทศไทย และเวียดนาม โดยการใช้จ่ายเงินสำหรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ ซึ่งมองกันว่าเป็นการกดดันญี่ปุ่นด้วย

อาจารย์ฐิตินันท์กล่าวว่า จีนจะไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของใครนอกจากของตนเอง และความร่วมมือล้านช้าง - แม่โขง จะเป็นฐานที่จะช่วยให้จีนทำเช่นนั้นได้

นักรัฐศาสตร์ไทยผู้นี้กล่าวต่อไปว่า ญี่ปุ่นกำลังประเมินบทบาทของตน การให้ความช่วยเหลือใหม่ๆ ทำให้ญี่ปุ่นมีเสียงได้ และประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อญี่ปุ่น

ในคำปราศรัยที่กรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวไว้ด้วยว่า การมีสันติภาพและเสถียรภาพ เป็นเงื่อนไขสำหรับการเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ รวมทั้งหลักการที่เป็นพื้นฐานของหลักนิติธรรม โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล

รัฐมนตรี Fumio Kishida ของญี่ปุ่น ยังได้เรียกร้องให้มีการกำหนดระเบียบปฏิบัติขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ระหว่างหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนามกับจีนด้วย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ Carl Thayer นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย New South Wales ในออสเตรเลีย บอกว่า จีนได้พยายามกีดกันคนนอกไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมเจรจาในเรื่องความมั่นคงในทะเลจีนใต้

นักวิชาการผู้นี้กล่าวส่งท้ายว่า แม้ญี่ปุ่นกำลังพยายามเสริมสมรรถนะให้กับประเทศเหล่านี้ในการตอบโต้จีน แต่ถ้าอเมริกาไม่ดำเนินการอย่างเฉียบขาด ญี่ปุ่นทำอะไรเองไม่ได้

ทำให้สรุปได้ว่าจีนอาจไม่ต้องรีบร้อน เพราะไม่คิดว่าจะมีใครทำอะไรในเรื่องนี้

XS
SM
MD
LG