ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การรับประทานข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน


การรับประทานข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
การรับประทานข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน

รายงานผลการศึกษาใหม่ ระบุว่า การรับประทานข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย อย่างข้าวกล้องข้าวซ้อมมือ หรือข้าวแดง แทนข้าวขาว หรือรับประทานข้าวขาวให้น้อยลง อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน

นักวิทยาศาสตร์ที่คณะสาธารณสุขมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดศึกษาพบว่า คนที่รับประทานข้าวขาว 5 มื้อในเวลา 1 สัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนที่รับประทานข้าวขาวน้อยราวเดือนละ 1 มื้อ

จากการศึกษาข้อมูลด้านสุขภาพ และการรับประทานอาหารของผู้ใหญ่ในสหรัฐมากกว่า 197,000 คนในเวลา 22 ปี นักวิจัยพบด้วยว่า การรับประทานข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย อย่างข้าวกล้องข้าวแดง และข้าวซัอมมือ สัปดาห์ละ 2 มื้อขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิด 2 น้อยกว่าคนที่รับประทานข้าวกล้อง ข้าวแดง หรือข้าวซัอมมือน้อยกว่า 1 มื้อ ราว 11 %

นายแพทย์ ชี ซัน กับเพื่อนร่วมงานที่คณะสาธารณสุขมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดบอกว่า การรับประทานข้าวกล้องข้าวแดงแทนข้าวขาวเพียงวันละ 1 ใน 3 ของที่รับประทานในแต่ละวัน จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิด 2 ลงได้ 16 % และการรับประทานเมล็ดธัญญพืชอื่น ๆ อย่างข้าวบาร์เลย์ และข่วสาลีแบบครบเต็มเมล็ดที่เรียกว่า whole grain จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิด 2 ลงได้ราว 36 %

การสีข้าวให้ขาวนั้น ทำให้ข้าวสูญเสียเยื่อผิวเคลือบเมล็ดและส่วนจมูกข้าว ซึ่งเป็นแหล่งเส้นใยและสารอาหารที่เป็นประโยชน์สำคัญที่สุดไป ส่วนข้าวกล้อง ข้าวแดง หรือข้าวซ้อมมือ ยังคงมีเยื่อผิวเคลือบเมล็ดหรือรำและส่วนจมูกข้าว ซึ่งเป็นส่วนที่มีวิตามิน แร่ธาตุต่าง และเส้นใยอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่มากกว่าในข้าวที่ถูกขัดสีจนขาว นอกจากนั้น ข้าวกล้อง ข้าวแดง หรือข้าวซ้อมมือ จะค่อยๆ ปล่อยสารกลูโคสทีละน้อย และไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นมากอย่างข้าวขาวด้วย

นักวิจัยกล่าวว่า การศึกษานี้เป็นรายแรก ที่ศึกษาเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับข้าวขาวกับข้าวแดงที่มีความเกี่ยวโยงกับการเป็นโรคเบาหวานชนิด 2 ในคนอเมริกัน ขณะที่คนอเมริกันรับประทานข้าวกันมากขึ้นเรื่อยๆ นายแพทย์ ชี ซัน กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในแง่สาธารณสุขแล้ว ก็ควรเสนอแนะให้ข้าวครบเต็มเมล็ดหรือข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรทสำคัญสำหรับประชากรสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิง Loren Wissner Greene แห่งศูนย์การแพทย์ Langone มหาวิทยาลัยนิวยอร์คกล่าวว่า การศึกษาใหม่นี้ ไม่ใช่ว่าจะพิสูจน์ได้แน่ชัดลงไปว่า ข้าวขาวมีส่วนในการทำให้เป็นโรคเบาหวาน เพราะขณะที่การรับประทานข้าวแดงมากขึ้น เป็นประโยชน์และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานนั้น ข้าวขาวอาจไม่มีส่วนต่อการทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดก็ได้

ขณะเดียวกัน แพทย์หญิง Victoria King แห่งศูนย์โรคเบาหวานประเทศอังกฤษกล่าวว่า ขณะที่ผลการวิจัยยังไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะที่ลงตัวแน่นอนนั้น วิธีป้องกันโรคเบาหวานชนิด 2 ที่ดีที่สุด คือ การดูแลร่างกายให้แข็งแรงกระฉับกระเฉง ด้วยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารเค็มจัดและอาหารหวาน และรับประทานผักสดผลไม้ให้มาก

XS
SM
MD
LG