ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สาระสำคัญของการเจรจาระหว่างสหรัฐและอินเดีย ณ กรุงวอชิงตันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา


สาระสำคัญของการเจรจาระหว่างสหรัฐและอินเดีย ณ กรุงวอชิงตันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
สาระสำคัญของการเจรจาระหว่างสหรัฐและอินเดีย ณ กรุงวอชิงตันเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ในการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและอินเดีย ณ กรุงวอชิงตันเมื่อต้นเดือนนี้ เรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งได้แก่การที่รัฐบาลชุดประธานาธิบดีบารัค โอบามากล่าวยกย่องอินเดียว่า เป็นประเทศที่กำลังมีอำนาจกล้าแข็งไม่ใช่แต่ในภาคเอเชียใต้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

มีการระบุไว้ในคำแถลงร่วมที่ออก หลังจากการเจรจาสิ้นสุดลงว่าสหรัฐยินดีต้อนรับการที่อินเดียวางตัวเป็นผู้นำในการช่วยทำให้เอเชียเข้มแข็ง ทรงเสถียรภาพ สงบสุข และรุ่งเรืองไพบูลย์ นักวิเคราะห์บางส่วนมีความเห็นว่า เรื่องข้างต้นจะทำให้จีน และอินเดียชิงดีชิงเด่นกันมากขึ้นและจะเป็นปัจจัยที่กำหนดอนาคตของเอเชีย

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวไว้ตอนที่มีการเจรจาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐและอินเดียว่า “อินเดียเป็นผู้นำรายหนึ่งของเอเชียและของโลก อินเดียกำลังมีอำนาจกล้าแข็งขึ้นและเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบรายหนึ่งในโลก” ท่านประธานาธิบดีกล่าวด้วยว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และอินเดียจะเป็นตัวกำหนดความเป็นหุ้นส่วนในยุคศตวรรษที่ 21

นักวิเคราะห์อาวุโสเกี่ยวกับเอเชียใต้ เทเรสิตา แช๊ฟเฟ่อร์ แห่งศูนย์ยุทธศาสตร์และวิเทศศึกษากล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่สหรัฐยกย่องอินเดียว่า ไม่ได้เป็นประเทศที่ทรงอำนาจในภาคเอเชียใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศที่ทรงอำนาจสำหรับทั่วเอเชียด้วย ซึ่งเธอคิดว่าเป็นการที่สหรัฐเปลี่ยนทัศนวิสัยครั้งสำคัญ เธอกล่าวด้วยว่าเรื่องนั้น ทำให้ต้องคิดไปถึงเรื่องที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอินเดียจะไปเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ ที่สหรัฐและอินเดียมีอยู่กับจีนนั้นอย่างไร?

คุณเทเรสิตา แช๊ฟเฟ่อร์ กล่าวไว้ตอนนี้ว่า “เรามีแนวความคิดใหม่ที่น่าสนใจซึ่งเป็นแนวความคิดที่ว่าไม่มีประเทศไหนสนใจที่จะทะเลาะเบาะแว้งกับจีน แต่มีอินเดียและสหรัฐที่สนใจอย่างแรงกล้าที่จะเห็นเอเชียทั้งทวีปพัฒนาก้าวหน้า แบบมีความสมดุลท่ามกลางบรรดาประเทศที่มีบทบาทที่สำคัญ”

ส่วนผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน โรเบิร์ต เบล๊ค เห็นด้วยกับแนวความคิดที่ว่านี้และชี้ให้เห็นถึงนโยบายเมื่อเร็วๆ นี้ของอินเดียที่ “มุ่งมองไปทางตะวันออก” และการที่อินเดียมีอิทธิพลมากขึ้นในภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณ โรเบิร์ต เบล๊ค กล่าวไว้ตอนนี้ว่า “ผมคิดว่าเราเริ่มพูดจาหารือกันอย่างจริงจัง เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าสหรัฐและอินเดีย จะสามารถทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้นในเอเชียได้อย่างไร?”

แต่นักวิเคราะห์ สตีเฟ่น โรเสนแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวว่า การที่อินเดียมีอิทธิพลโน้มน้าวมากยิ่งขึ้นในเอเชีย และเรื่องที่อินเดียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รายใหม่ของสหรัฐ อาจทำให้จีนรู้สึกรำคาญใจ และอาจยั่วใจให้จีนบีบบังคับอินเดียให้คล้อยตามจีนก็เป็นได้

คุณ สตีเฟ่น โรเสน กล่าวไว้ตอนนี้ว่า “ ขณะนี้ อินเดียกำลังคิดถึงเรื่องที่เศรษฐกิจของตนขยายตัว เรื่องการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รายใหม่ของสหรัฐ อันเป็นเรื่องที่ทำให้บทบาทของอินเดียขยายวงออกไปในเวทีโลกนั้น จีนก็อาจอยากจะเตือนอินเดียให้พึงสังวรไว้ว่าจีนเหนือชั้นกว่าอินเดียและถ้าจีนต้องการ จีนก็สามารถเล่นงานอินเดียให้ย่อยยับเมื่อไหร่ก็ได้”

แต่คุณจ๊าคเกอลีน นิวมายเอ้อร์ แห่งกลุ่มยุทธศาสตร์ระยะยาวกล่าวว่า จีนไม่ต้องเผชิญหน้ากับอินเดียโดยตรง แต่กำลังทำแบบนั้นโดยอ้อมกล่าวคือ จีนกำลังดำเนินการกระชับความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศในเอเชียใต้ที่อยู่รอบๆ อินเดียไปได้มากโขทีเดียว

คุณจ๊าคเกอลีน นิวมายเอ้อร์กล่าวไว้ตอนนี้ว่า “ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าจีนมีส่วนร่วมในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือที่เมืองกวาดาร์ในปากีสถาน และที่ศรีลังกา ขณะนี้ อินเดียกำลังเผชิญกับสถานอำนวยความสะดวกของจีนที่เมืองท่าแห่งหนึ่ง ในบังคลาเทศซึ่งมีการติดตั้งจรวดต่อต้านเรือซึ่งจีนจัดหามาให้ “เธอกล่าวด้วยว่า อินเดียวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องที่จีนและปากีสถานมีความสัมพันธ์ทางทหารกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนมนั้นด้วย

บรรดานักวิเคราะห์เห็นพ้องกันว่า ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐและอินเดีย ซึ่งเป็นความคลี่คลายใหม่นี้สามารถเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดโฉมหน้า ของเอเชียในอนาคตได้มากทีเดียวและว่าปัจจัยสำคัญๆ ในเรื่องนั้นจะได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอินเดียและความสัมพันธ์ที่จีนและอินเดียมีอยู่กับสหรัฐ

XS
SM
MD
LG