ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ช่วยให้ขณะนี้จักษุแพทย์ในอินเดียสามารถรักษาผู้ป่วยในหมู่บ้านต่างๆ ตามชนบทห่างไกลได้


ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ช่วยให้ขณะนี้จักษุแพทย์ในอินเดียสามารถรักษาผู้ป่วยในหมู่บ้านต่างๆ ตามชนบทห่างไกลได้
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ช่วยให้ขณะนี้จักษุแพทย์ในอินเดียสามารถรักษาผู้ป่วยในหมู่บ้านต่างๆ ตามชนบทห่างไกลได้

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ในปัจจุบัน ช่วยให้ขณะนี้จักษุแพทย์ในอินเดียสามารถรักษาผู้ป่วยในหมู่บ้านต่างๆ ตามชนบทห่างไกลได้ ผ่านเครือข่ายการประชุมทางวีดีโออินเตอร์เนตไร้สาย

ที่โรงพยาบาลจักษุอราวินในเมืองเธนี รัฐทมิฬนาดู มีผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา มารับการรักษาจำนวนมาก หลายคนบอกเล่าอาการของตนต่อจักษุแพทย์ที่อยู่ไกลออกไป ผ่านทางเครือข่ายการประชุมทางวีดีโอผ่านระบบอินเตอร์เนตไร้สาย ซึ่งเป็นแนวทางการวินิจฉัยโรคแบบที่เรียกว่า Telemedicine ที่กำลังมีการนำมาใช้กันมากขึ้น ในประเทศที่มีประชากรตาบอดมากที่สุดในโลกอย่างอินเดีย

ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีศูนย์ตรวจสายตาเปิดขึ้น 6 แห่งที่เมืองเธนี โดยแต่ละศูนย์จะมีผู้ช่วยแพทย์คอยตรวจวัดสายตา รวมทั้งทำการวินิจฉัยและปฐมพยาบาลอย่างง่ายๆ ให้กับผู้ที่มีปัญหาด้านสายตาหรือดวงตา จากนั้นผู้ช่วยแพทย์จึงส่งข้อมูลให้แก่จักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลใหญ่ซึ่งอยู่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร วินิจฉัยอีกครั้งผ่านทาง Telemedicine

คุณราชามานิคาม คนไข้ผู้หนึ่งที่มีอาการเจ็บตามาสักระยะแล้ว กล่าวเป็นภาษาทมิฬว่า อุปกรณ์สมัยใหม่นี้มีประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างมาก ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาทั้งวันเดินทางไกลไปโรงพยาบาลในเมือง เพียงแค่นั่งรถโดยสารแค่ 3 กิโลเมตรก็มาถึงศูนย์ตรวจสายตาในหมู่บ้านแห่งนี้แล้ว และยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัย และการเดินทางไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง หากเทียบกับการเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งในกรณีของคุณราชามานิคามนั้น เขาบอกว่าเงินที่ประหยัดมาได้นี้ เขาจะเก็บออมไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ในการผ่าตัดรักษาโรคต้อกระจกในดวงตาที่เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์เพิ่งตรวจพบนะครับ โดยแพทย์ระบุว่าเป็นโชคดีของผู้ป่วยผู้นี้ ที่แพทย์ตรวจเจอต้อตั้งแต่แรกๆ เพราะหากทิ้งไว้นาน คุณราชามานิคามอาจกลายเป็นคนตาบอด เช่นเดียวกับชาวอินเดียอีกราว 15 ล้านคนก็เป็นได้

รายงานขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวอินเดียจำนวนมากตาบอดได้แก่โรคต้อกระจกและโรคเบาหวานนั้น ที่จริงแล้วสามารถรักษาได้ โดยจากการที่มีศูนย์ตรวจสายตาเกิดขึ้นตามหมู่บ้านในชนบทห่างไกลนี้ ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยทางดวงตาได้เฉลี่ยถึงปีละ 5,000 รายต่อศูนย์ 1 แห่ง ผ่านทางวีดีโออินเตอร์เนตไร้สายซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้านการออกแบบติดตั้งจากมหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบริค์เล่ย์ในสหรัฐ

นายแพทย์ พี นัมเปรุมอัลซามี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจักษุอราวิน กล่าวว่าการติดตั้งคอมพิวเตอร์หลักที่โรงพยาบาลนั้นมีค่าใช้จ่ายเพียง 2,200 ดอลล่าร์เท่านั้น และการที่แพทย์ในอินเดียขาดแคลน ก็ยิ่งทำให้อุปกรณ์นี้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

นายแพทย์ผู้นี้ระบุว่า บางคนอาจจะบอกว่าวิธีนี้แพทย์ไม่ได้จับต้องสัมผัสผู้ป่วย ไม่ได้คุยกับผู้ป่วยโดยตรง แต่ก็ยังดีกว่าการปล่อยให้ผู้ป่วยเหล่านั้นรักษากันเองด้วยยาพื้นบ้านหรือยาที่ไม่ได้มาตรฐานจนทำให้ดวงตาเสียหาย อย่างน้อย Telemedicine นี้ ก็ทำให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำต่อผู้ป่วยถึงยาและการรักษาที่เหมาะสมได้

ด้านรัฐบาลอินเดียมีโครงการจะติดตั้งวีดีโออินเตอร์เนตไร้สายราว 2 หมื่นชุดตามสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วอินเดียในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้

XS
SM
MD
LG