ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สถาปัตยกรรมสมัยที่เขมรตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนใหญ่กำลังโดนรื้อถอนออกไป


ขณะนี้ สถาปัตยกรรมสมัยที่เขมรตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส อายุนับร้อยปีส่วนใหญ่กำลังโดนรื้อถอนเพื่อเอาที่ไปสร้างอาคารแบบทันสมัยสูงหลายๆ ชั้น

กรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงของเขมรมาได้ไม่นานนัก และอาคารส่วนมากในกรุงพนมเปญเป็นอาคารสูงแค่สองหรือสามชั้น ขณะนี้สถาปัตยกรรมสมัยที่เขมรตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส อายุนับร้อยปีส่วนใหญ่กำลังโดนรื้อถอนออกไป เพื่อเอาที่ไปสร้างอาคารแบบทันสมัยสูงหลายๆ ชั้น

เศรษฐกิจของเขมรในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ขยายตัวอย่างน่าตื่นตะลึง ซึ่งนอกจากจะสร้างงาน และโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ขึ้นในประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียแล้ว ก็ยังทำให้มีการสร้างอาคารสำนักงานและอาคารที่อยู่อาศัยสูงสิบถึงยี่สิบชั้น แทนที่อาคารสมัยที่เขมรเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสด้วย

สถาปนิกและนักประวัติศาสตร์ในเขมรคิดว่า อาคารที่สร้างขึ้นในสมัยที่เขมรเป็นอาณานิคม ซึ่งยืนยงผ่านช่วงสงครามและรัฐบาลเขมรแดงอันโหดร้าย มาได้นั้นโดนรื้อถอนออกไปราวร้อยละสี่สิบในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา คุณ มิเชล แวโรต์ สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ผู้อำนวยการของ โครงการภารกิจอนุรักษ์

มรดกของชาติซึ่งฝรั่งเศสให้ทุนสนับสนุนนั้น พำนักอยู่ในเขมรมาสิบเอ็ดปี โครงการนั้นพยายามอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่ยังเหลืออยู่ จากสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองเขมรเมื่อเกือบหนึ่งร้อยห้าสิบปีมาแล้ว คุณมิเชล แวโรต์กล่าวว่าในยุคที่ฝรั่งเศสปกครองเขมร กรุงพนมเปญได้รับการออกแบบให้เป็นนครที่มีสวน ถนนและทิวทัศน์อันงดงาม แต่เขาคิดว่ารัฐบาลเขมรสนใจการอนุรักษ์อาคารเก่าๆน้อยมากทั้งนี้เพราะสถาปัตยกรรม อันเป็นเสมือนเพชรน้ำหนึ่งของเขมรคือนครวัตนั้นเด่นกว่าสถาปัตยกรรมแบบอื่นๆมากเหลือเกินนั่นเอง

แต่ทว่าสถาปัตยกรรมสมัยที่เขมรตกเป็นอาณานิคมนั้น เป็นมรดกส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เขมร ถึงแม้ว่าการหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต จะทำให้คนรู้สึกไม่สบายใจก็ตาม

คุณสำราง คัมสาน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเขมร ซึ่งรับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์กล่าวว่ากระทรวงของเขามีอำนาจหน้าที่ ในวงเขตจำกัดและทัศนคติของชาวเขมรจำนวนมากทำให้ภารกิจของกระทรวงยิ่งยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่เข้าใจหรือไม่ชอบอาคารแบบเก่า คุณสำราง คัมสานกล่าวว่า ทางกระทรวงพยายามอบรมชักจูงให้ชาวเขมรเห็นคุณค่าของอาคาร

แบบเก่าๆแต่มีทุนสำหรับอนุรักษ์อาคารเหล่านั้นน้อยมาก รัฐบาลฝรั่งเศสให้เงินสนับสนุนงานด้านนั้นบางส่วนแต่คงจะใช้ไปได้อีกไม่นาน

คุณสำราง คัมสานกล่าวไว้ตอนนี้ว่า “ที่ว่าการจังหวัดทุกแห่งในเขมรเป็นอาคารสมัยฝรั่งเศสปกครองเขมร ดังนั้นอาคารเก่าหลายแห่ง มีรูปทรงแบบอาคารฝรั่งเศสซึ่งจำเป็นต้องฟื้นฟูบูรณะเสียใหม่ ฝรั่งเศสไม่มีเงินมากนัก แต่รัฐบาลต้องได้เงินมา แต่ขณะนี้เรากำลังดำเนินการพัฒนาอยู่”

ตัวคุณสำราง คัมสานเองอยากให้พัฒนาสถาปัตยกรรมแบบเขมรยุคใหม่ ที่เข้ากันได้กันได้กับของเก่า

แต่ทว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็ทรงความสำคัญในกรุงพนมเปญและรัฐบาลเขมรกำลังจูงใจนักท่องเที่ยวให้อยู่ในเขมรนานกว่าที่เคย ตามปรกตินักท่องเที่ยวอยู่ในเขมรแค่สามวันเพื่อไปชมนครวัตที่จังหวัดเสียมราฐ

คุณมิเชล แวโรต์กล่าวว่าการอนุรักษ์อาคารเก่าๆ ในกรุงพนมเปญนับว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาล และว่าการบูรณะซ่อมแซมอาคารเก่า เสียค่าใช้จ่ายถูกกว่าการสร้างใหม่เพราะใช้วัสดุในท้องถิ่นและเรื่องดังกล่าวไม่ต้องใช้เหล็กกล้า และกระจกราคาแพงที่ต้องซื้อจากต่างประเทศเหมือนอย่างในกรณีการสร้างอาคารใหม่

แต่ทว่ารัฐบาลเขมรไม่คิดว่ากรุงพนมเปญ เป็นเมืองที่มีมรดกอันล้ำค่าเหมือนเสียมราฐ และมีผู้วิจารณ์ว่าเรื่องนั้นหมายถึงว่ามีการพุ่งความสนใจ จะทำให้กรุงพนมเปญเป็นนครทันสมัยเต็มไปด้วยตึกรามสูงหลายๆชั้นที่มีกระจก และหินอ่อนประดับเหมือนอย่างที่เห็นๆ กันที่กรุงเทพมหานครนั่นละซีนะ

XS
SM
MD
LG