ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ส่องการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอเมริกันต่อสงครามกาซ่า


นักศึกษามหาวิทยาลัย George Washington University ตั้งแคมป์ประท้วงสงครามอิสราเอลในกาซ่า เมื่อ 28 เม.ย. 2024 ในกรุงวอชิงตัน (Photo: Diaa Bekheet)
นักศึกษามหาวิทยาลัย George Washington University ตั้งแคมป์ประท้วงสงครามอิสราเอลในกาซ่า เมื่อ 28 เม.ย. 2024 ในกรุงวอชิงตัน (Photo: Diaa Bekheet)

คลื่นการประท้วงที่แผ่ขยายไปทั่วสถาบันอุดมศึกษาในอเมริกาในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ ที่นำโดยกลุ่มนักศึกษาที่ปักหลักตามอาคารมหาวิทยาลัย เพื่อประท้วงสงครามอิสราเอล-ฮามาส เริ่มยกระดับตั้งแต่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ที่ตำรวจเข้าสลายการตั้งเตนท์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในมหานครนิวยอร์ก นับแต่นั้นมาการชุมนุมกระจายไปตามมหาวิทยาลัยชื่อดังมากมาย อาทิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเยล และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส

นักศึกษาต่างออกมาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยุติการดำเนินธุรกิจกับอิสราเอลหรือบริษัทที่สนับสนุนการก่อสงครามในกาซ่า บ้างก็เรียกร้องให้เว้นโทษนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมประท้วงที่กำลังเผชิญกับการพักการเรียนหรือบทลงโทษอื่น ๆ ตามมา

ด้านเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยได้หารือข้อตกลงต่าง ๆ กับเหล่าผู้ประท้วง หรือไม่ก็ยกระดับเป็นการเรียกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเข้ามาจัดการผู้ประท้วงถึงในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่ง ณ ตอนนี้มีรายงานผู้ประท้วงถูกจับกุมอย่างน้อย 2,000 คนทั่วอเมริกาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อ้างอิงจากรายงานของเอพี

เอพีสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอเมริกันต่อสงครามกาซ่าให้เข้าใจง่าย ๆ

เป้าหมายของการชุมนุมนี้คืออะไร?

นักเคลื่อนไหวสนับสนุนปาเลสไตน์ เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยตัดสัมพันธ์ทางการเงินกับอิสราเอลและบริษัทที่สนับสนุนอิสราเอล แต่รายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละสถาบันการศึกษา เช่น ม.เยลมีการเรียกร้องให้มีความโปร่งใสในการลงทุนของสถาบัน

ส่วนนักศึกษาที่ประท้วงจาก University of Michigan อ้างว่าพบการลงทุนของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับสงครามกาซ่า เช่น ลงทุนในบริษัทผลิตโดรนหรือเทคโนโลยีสอดแนมที่ใช้ในอิสราเอล แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะปฏิเสธว่าไม่มีการลงทุนโดยตรงกับบริษัทอิสราเอล และการลงทุนทางตรงในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอาจจะคิดเป็นสัดส่วน 1% จากเงินบริจาคของมหาวิทยาลัย 18,000 ล้านดอลลาร์

และที่ Massachusetts Institute of Technology มีการเรียกร้องให้ยุติสัญญาการวิจัยกับอิสราเอล และเผยชื่อของนักวิจัยที่รับเงินจากกระทรวงกลาโหมอิสราเอลในโครงการโดรนและขีปนาวุธอิสราเอล

แต่เป้าหมายที่ทุกสถาบันมีร่วมกันอย่างชัดเจน คือ การส่งเสียงให้ได้ยินไปทั่วโลก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเรื่องราวการประท้วงปรากฎในพาดหัวข่าวไปทั่วโลก รวมทั้งในตะวันออกกลาง

มีมือที่ 3 ก่อกวนการชุมนุมหรือไม่?

หน่วยงานท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยบางแห่งอ้างว่าการประท้วงจัดขึ้นโดยมี “กลุ่มก่อกวนจากภายนอก” ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมต่างปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ขณะที่ผู้ประท้วงซึ่งถูกจับกุมไปก็มีทั้งผู้ที่เป็นนักศึกษาและที่ไม่ใช่

นายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก เอริค อดัมส์ อ้างว่า “มีกลุ่มก่อกวนจากภายนอก” เข้ามาร่วมจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก่อนตำรวจจะจับกุมกว่า 100 คนในมหาวิทยาลัย และอ้างว่ามีเตนท์ในรั้วมหาวิทยาลัยที่มาจากแบรนด์เดียวกัน แต่นักศึกษาผู้จัดการประท้วงปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

ส่วนที่ Northeastern University ในนครบอสตัน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยระบุว่า “มีการแทรกซึมเข้ามาโดยนักจัดประท้วงมืออาชีพ” ซึ่งนักศึกษาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้เช่นกัน

การประท้วงยกระดับความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน?

ยากจะบอกเป็นสัดส่วนชัดเจน แต่ถือว่าไม่มากนัก โดยมีผู้ประท้วงกว่า 2,000 คนที่ถูกจับกุมในมหาวิทยาลัย 30 แห่งในอเมริกา

ถ้าเปรียบเทียบให้ชัด สหรัฐฯ มีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยราว 6,000 แห่ง รองรับนักศึกษาราว 18 ล้านคน ทั้งระดับปริญญาตรีและสูงกว่านั้น ส่วนการประท้วงที่ยกระดับรุนแรงนั้นแทบไม่ค่อยเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

การประท้วงครั้งนี้จะเหมือนในช่วงปี 1960 หรือไม่?

คลื่นการประท้วงครั้งนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในการประท้วงในมหาวิทยาลัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน แต่ยังไม่เทียบเท่ากับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในยุคสงครามเวียดนาม ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 แต่ในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ มองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจจะใหญ่สุดในศตวรรษที่ 21 เพราะไม่ค่อยเห็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในประเด็นสงครามมากนัก ในขณะที่ความรุนแรงของการประท้วงก็ไม่เท่ากับในอดีต ไม่มีการระเบิดรุนแรง เหมือนในช่วงปี 1970 ที่คร่าชีวิตนักวิจัยของ University of Wisconsin และไม่มีเหตุกราดยิงเหมือนที่มหาวิทยาลัย Kent State

แต่ถึงกระนั้น การเคลื่อนไหวของเหล่านักศึกษาได้จุดประเด็นเปรียบเทียบแห่งยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการชุมนุมในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งสะท้อนถึงภาพการประท้วงเมื่อปี 1968 ที่นักศึกษาบุกยึดอาคารในมหาวิทยาลัยเพื่อประท้วงสงครามเวียดนาม

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG