ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทะเลสาบโบราณแช่น้ำแข็งขั้วโลกใต้ 15 ล้านปีจุดประกายการไขปริศนาต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิต


ทะเลสาบโบราณแช่น้ำแข็งขั้วโลกใต้ 15 ล้านปีจุดประกายการไขปริศนาต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิต
ทะเลสาบโบราณแช่น้ำแข็งขั้วโลกใต้ 15 ล้านปีจุดประกายการไขปริศนาต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิต

หลังใช้ความพยายามนานกว่า 20 ปีท่ามกลางอุณหภูมิหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์รัสเซียประสบความสำเร็จในการเจาะแผ่นน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตรลงลึกไปถึงทะเลสาบโบราณซึ่งซุกซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำแข็งมาเป็นเวลานานหลายล้านปี นักวิจัยเชื่อว่าการค้นพบครั้งนี้อาจช่วยไขปริศนาเรื่องการก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนความลี้ลับของโลกใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครสัมผัส

หลักฐานเรื่องทะเลสาบใต้น้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้นี้เริ่มมีการรวบรวมตั้งแต่คริสทศวรรษ 1970 หรือราว 40 ปีก่อน หลังจากคณะนักสำรวจรัสเซียพบว่าใต้แผ่นน้ำแข็งลึกลงไปบริเวณขั้วโลกใต้นั้นมีลักษณะแตกต่างจากชั้นน้ำแข็งทั่วไป เพราะไม่ได้แบ่งเป็นชั้นๆตามสภาพภูมิอากาศในแต่ละยุคสมัยเหมือนชั้นน้ำแข็งด้านบน นักสำรวจเชื่อว่านั่นคือส่วนล่างสุดของแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมทะเลสาบโบราณอายุหลายล้านปีซึ่งต่อมาตั้งชื่อว่าทะเลสาบ Vostok


นักวิทยาศาสตร์รัสเซียเริ่มโครงการเจาะสำรวจหาทะเลสาบที่ว่านี้ตั้งแต่ปี ค.ศ 1996 โดยค่อยๆเจาะลงไปทีละนิดทุกๆปีผ่านชั้นน้ำแข็งหนาเกือบ 4 กิโลเมตร จนสามารถไปถึงพื้นผิวด้านบนสุดของทะเลสาบ Vostok สำเร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 ก.พ ที่ผ่านมา ใช้เวลาในการขุดเจาะทั้งหมดราว 16 ปี นักวิทยาศาสตร์คาดว่าทะเลสาบที่เพิ่งค้นพบนี้มีขนาดความกว้างราว 48 กม. ยาวประมาณ 256 กม. และน่าจะซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำแข็งมานานไม่น้อยกว่า 15 ล้านปี ขั้นตอนต่อไปคือการเจาะพื้นผิวของทะเลสาบนั้นเพื่อสำรวจลักษณะของน้ำภายในทะเลสาบ

ด็อกเตอร์ John Priscu นักจุลชีววิทยาที่มหาวิทยาลัย Montana State University ในสหรัฐและนักสำรวจขั้วโลกใต้ ระบุว่าความท้าทายขั้นต่อไปคือการเจาะเพื่อนำตัวอย่างน้ำในทะเลสาบมาตรวจสอบโดยไม่ให้เชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ในน้ำแข็งหรือมลพิษอื่นๆลงไปปะปนในแหล่งน้ำบริสุทธิ์ซึ่งไม่เคยถูกแสงแดดนานกว่า 15 ล้านปี

ด็อกเตอร์ John Priscu ระบุว่านักวิทยาศาสตร์จะไม่ใช้เครื่องมือใดๆในการสำรวจตัวอย่างน้ำในทะเลสาบ Vostok แต่จะใช้วิธีเจาะรูลงไปถึงผิวน้ำแล้วอัดแรงดันเพื่อให้น้ำในทะเลสาบเอ่อขึ้นมาตามรูนั้นจนมาถึงผิวน้ำแข็งด้านบน ก่อนที่จะเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบต่อไป อย่างไรก็ตามน้ำที่ขึ้นมาถึงผิวน้ำแข็งด้านบนนั้นจะเป็นแค่น้ำในระดับพื้นผิวของทะเลสาบเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ของรัสเซียรวมทั้งของสหรัฐและอังกฤษจะสามารถเจาะสำรวจน้ำในส่วนลึกของทะเลสาบ Vostok ได้ภายในเวลา 10 ปี

ด็อกเตอร์ Priscu ระบุว่าไม่ว่าจะพบอะไรในทะเลสาบยุคโบราณแห่งนี้ เชื่อแน่ว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาทางชีววิทยาบนโลกแน่นอน ในขณะที่หัวหน้าคณะนักสำรวจขั้วโลกใต้ของรัสเซีย Sergey Bulat ระบุว่าปริมาณอ็อกซิเจนในทะเลสาบแห่งนี้น่าจะสูงกว่าพื้นโลก 10-20 เท่า ดังนั้นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบยุคโบราณนี้จึงน่าจะมีลักษณะแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตที่พบทั่วไปบนพื้นโลกแน่นอน และนั่นอาจช่วยไขปริศนาเรื่องการก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตและการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นเช่นเดียวกับทะเลสาบใต้แช่น้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้แห่งนี้

XS
SM
MD
LG