ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ก้าวต่อไปของรัฐและตัวบุคคล หลัง ‘ทักษิณ’ คุยฝ่ายต้าน รบ.เมียนมา


ทักษิณ ชินวัตร ไหว้ทักทายหลังเดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมืองในกรุงเทพฯ เมื่อ 22 สิงหาคม 2023 (ที่มา:AP)
ทักษิณ ชินวัตร ไหว้ทักทายหลังเดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมืองในกรุงเทพฯ เมื่อ 22 สิงหาคม 2023 (ที่มา:AP)

นักวิเคราะห์มองบทบาทการพูดคุยกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แนะ จับตามองเงื่อนไข-ท่าทีของฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงตัวทักษิณ แนะรัฐบาลไทยไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับทุกกลุ่ม ดำเนินแนวทางการทูตทั้งทางการ-ไม่ทางการ บนเงื่อนไขความขัดแย้งที่ร้าวลึกและซับซ้อน

การรายงานของวอยซ์ ออฟ อเมริกาภาคภาษาพม่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ระบุว่าอดีตนายกฯ ทักษิณได้พูดคุยหารือกับตัวแทนของรัฐบาลสหภาพแห่งชาติ (NUG) รวมถึงตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่ม

แหล่งข่าวเครือข่ายชนกลุ่มน้อยเมียนมาที่อยู่ใน จ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลกับวีโอเอไทยว่าการพูดคุยเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยการพบกันครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ จ.เชียงใหม่ กับกลุ่มพรรคก้าวหน้ากะเรนนี (KNPP) กองกำลังปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ส่วนอีกสองครั้งเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงปลายเดือนเมษายนกับกลุ่มสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) กลุ่ม KNU และตัวแทนรัฐบาลเงา NUG

วีโอเอไทยพยายามติดต่อไปยังรัฐบาลเงา NUG เพื่อยืนยันการพบกันระหว่างทักษิณและผู้นำฝ่ายต่อต้านในเมียนมา แต่ไม่ได้รับการตอบรับในช่วงที่เผยแพร่รายงานนี้

ไซ ทุน อ่อง ลวิน นักวิเคราะห์จากสถาบันปีดองซูเพื่อสันติภาพและการเจรจา ที่รับรู้ถึงการพูดคุยดังกล่าวจากแหล่งข่าวหลายราย กล่าวกับวีโอเอไทยว่ามีบางกลุ่มที่อยากใช้เครือข่ายที่กว้างขวางของทักษิณให้เป็นประโยชน์ในการเจรจากับรัฐบาลเมียนมา

ไซ ทุน อ่อง ลวินกล่าวว่า “ผมคิดว่าเขา (กลุ่มชาติพันธุ์) คิดถึงความได้เปรียบทางการเมือง เพราะมีไม่กี่คนที่รู้จักผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเมียนมา ทั้งฝั่งกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ และรู้จักนายพลในเมียนมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อบทบาทการเป็นตัวกลาง”

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเดอะเนชั่น รายงานเมื่อวันพุธว่าผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ยังไม่ตอบรับข้อเสนอของทักษิณที่พยายามเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพระหว่างทุกฝ่ายในเมียนมา เพราะยังเคลือบแคลงใจในความเร่งรีบและขาดความเข้าใจในเงื่อนไขความขัดแย้งในปัจจุบันของอดีตผู้นำรายนี้

กองทัพเมียนมาเผชิญกับแรงต่อต้านรอบทิศจากกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์และประชาชนที่ไม่ยอมรับการยึดอำนาจเมื่อปี 2021 โดยการสู้รบที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สูญเสียการควบคุมพื้นที่จำนวนมาก รวมถึงจุดยุทธศาสตร์บริเวณชายแดน เช่น เมืองเล้าก์ก่ายที่อยู่ใกล้กับจีน และเมืองเมียวดีที่ติดกับชายแดนไทย ที่แม้ต่อมาฝ่ายกองทัพจะเข้ามายึดคืนได้ แต่ทหารกะเหรี่ยงยังคงควบคุมฐานทัพในพื้นที่อยู่หลายจุด

มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าบทบาทของทักษิณในเรื่องเมียนมา ไม่เกี่ยวกับแนวทางการทำงานของรัฐบาลไทย ซึ่งได้ดำเนินการตามกรอบของอาเซียนและวิธีการอื่น ๆ เพื่อต้องการเห็นความสมานฉันท์ปรองดองในเมียนมา ตามการรายงานของสำนักข่าวไทยพีบีเอสเมื่อวันอังคาร

ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์อิสระ อดีตที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาพม่าว่า ความขัดแย้งในเมียนมาที่ซับซ้อนและยังทวีความรุนแรง เป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการมากกว่ารูปแบบที่เป็นทางการ แต่ก็เสนอแนะให้รัฐบาลไทยดำเนินบทบาทในประเด็นเมียนมาทั้งสองแบบ บนหลักการไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับทุกกลุ่ม

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเสนอด้วยว่า รัฐบาลไทยควรดำเนินการเพื่อให้เกิดระเบียงมนุษยธรรมบริเวณชายแดนให้ได้เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถหลบหนีภัยสงครามมายังพื้นที่ดังกล่าว

“เราต้องยืนยันว่าไทยจะไม่เป็นตัวเลือกของกลุ่มต่าง ๆ ที่จะมายิง มาสู้ มาใช้ไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อไปสู้รบกันต่อ ผมคิดว่านั่นเป็นท่าทีที่ผิด ท่าทีที่ถูกต้องสำหรับไทยก็คือการให้รัฐบาลชุดใหม่ สื่อสารไปยังทุกกลุ่มว่าพวกเขาสามารถมาที่ไทยเพื่อหลบภัย” ปณิธานกล่าว

บทบาทของทักษิณเป็นอีกหนึ่งความพยายามในระดับตัวบุคคล ที่จะเข้าไปมีบทบาทในวิกฤตความขัดแย้งของเมียนมา ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แนวทางบรรเทาความรุนแรงในระดับที่เป็นทางการยังไม่บรรลุผลสำเร็จ ทั้งแนวทางฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และความพยายามเจรจาหยุดยิงของจีนเมื่อต้นปี 2024 ที่รัฐบาลและกองกำลังฝ่ายต่อต้านบางส่วนร่วมลงนาม แต่ก็กลับมาสู้รบกันใหม่

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ระบุว่าได้ร้องขอไปยัง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อขอพูดคุยกับออง ซาน ซู จี อดีตประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐวัย 78 ปีที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่การรัฐประหาร

ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา (ที่มา: AP)
ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา (ที่มา: AP)

ในวันถัดมา รัฐบาลสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council-SAC) ของเมียนมา ปฏิเสธข้อเสนอของอดีตผู้นำกัมพูชา โดยโฆษกรัฐบาลเมียนมา พล.ต. ซอ มิน ตุน กล่าวว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะอำนวยความสะดวก (การพูดคุย) ณ ขณะนี้” ตามการรายงานของเอเอฟพี

ในการแถลงเดียวกัน โฆษกรัฐบาลเมียนมายังระบุว่าการที่ทักษิณคุยกับฝ่ายต่อต้านนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

ด้านไซ ทุน อ่อง ลวิน กล่าวว่า สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากนี้หากจะเกิดการพูดคุยกันต่อ ก็คือเงื่อนไขและวาระที่กลุ่มต่อต้านต่าง ๆ จะยกมาอยู่บนโต๊ะเจรจา และบทบาทของทักษิณในฐานะตัวกลาง ซึ่งตัวเขามองว่าหากล่วงล้ำเข้าไปในแดนการบริหารกิจการภายในเมียนมามากไป ก็คงไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลทหาร

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: เดอะเนชั่น ไทยพีบีเอส เอเอฟพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG