ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทีมนักวิจัยกำลังศึกษาโรคในอูฐที่เคนยาเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคระบาดต่างๆที่จะติดต่อสู่คน


อูฐกลายเป็นแหล่งน้ำนมแก่คนที่อาศัยในพื้นที่แห้งแล้งในทวีปอาฟริกาตะวันออกรวมทั้งประเทศเคนยาที่มีประชากรอูฐโหนกเดียวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่นักวิจัยเกรงว่าการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าไปเลี้ยงในพื้นที่ใหม่ๆอาจทำให้เกิดโรคระบาดที่มากับสัตว์ต่างถิ่น


ฝูงอูฐในศูนย์วิจัย Mpala Research Centre ในเคนยาส่งเสียงดุดัน ด้วยความสูงมากกว่าสองเมตร อูฐที่โตเต็มวัยอาจดูน่ากลัว แต่คุณมากาเร็ท คินอาร์ดผู้อำนวยการบริหารแห่งศูนย์วิจัยเเห่งนี้บอกว่าอูฐไม่ใช่สัตว์ดุร้ายอย่างที่มองกัน

คุณคินอาร์ดกล่าวว่าเธอไม่เคยโดนอูฐถ่มน้ำลายใส่ ไม่เคยโดนกัดเลย มีแต่ถูกอูฐหอมมากกว่า

เมื่อหลายปีที่แล้ว คุณคินอาร์ด เริ่มโครงการศึกษาวิจัยสุขภาพอูฐกับคุณชารอน ดีม ผู้อำนวยการสถาบัน Institute for Conservation Medicine ที่สวนสัตว์เซ็นท์หลุยส์ในรัฐมิซซูรี่ สหรัฐอเมริกา

คุณชารอน ดีมกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าอูฐอาจจะเป็นโรคบางชนิดและหากคนเราบริโภคน้ำนมจากอูฐ โรคจากอูฐก็อาจจะส่งผ่านมาถึงคนได้

คุณชารอน ดีมกล่าวว่ามีชาวเคนยาจำนวนมากที่ดื่มนมจากอูฐ โดยไม่ได้นำนมไปผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อโรค
คุณ ชารอน ดีมกล่าวว่าเเม้จะเป็นตัวเลขโดยการประมาณกันเอง แต่ทีมงานเชื่อว่ามีชาวเคนยาราว 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร 40 ล้านคนของประเทศที่บริโภคน้ำนมอูฐที่ไม่ถูกฆ่าเชื้อ

อูฐเป็นสัตว์ต่างถิ่นในเคนยา คุณมากาเร็ท คินอาร์ดประมาณว่าในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา จำนวนอูฐในเคนยาได้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบสามล้านตัว เธอกล่าวว่าอูฐถูกนำเข้าไปเลี้ยงในเคนยาโดยชางต่างด้าวที่โยกย้ายถิ่นฐานจากประเทศโซมาเลียและซูดาน ทั้งสองประเทศมีอูฐเป็นสัตว์ประจำถิ่น คุณคินอาร์ดกล่าวว่าผู้เลี้ยงสัตว์ชาวเคนยาหันมานิยมเลี้ยงอูฐกันเนื่องจากอูฐทนทานต่ออากาศเเห้งเเล้ง

คุณคินอาร์ดกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าคนเห็นว่าอูฐสามารถอยู่รอดได้แม้เจอกับสภาพแห้งแล้งรุนแรงเป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน ในขณะที่ฝูงปศุสัตว์ที่เลี้ยงกลับตายลงเป็นจำนวนมาก

อูฐต่างจากปศุสัตว์กับแพะตรงที่สามารถผลิตน้ำนมได้ในปริมาณมากแม้จะอยู่ในสภาพอากาศที่เเห้งแล้ง บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะอากาศโลกได้พยากรณ์ว่าจะเกิดภาวะเเห้งแล้งบ่อยขึ้นกว่าเดิมในประเทศเคนยาในอนาคต
คุณอามอส โอมอร์รี ผู้เชี่ยวชาญแห่งสถาบัน International Livestock Research Institute ในประเทศไนโรบีกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าหากดูจากสภาพการณ์ด้านภาวะอากาศโลก อูฐจะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นกว่าเดิมต่อชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาฟริกาตะวันออก

เมื่ออูฐกลายเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในเคนยาและมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในฐานะเป็นแหล่งอาหารแก่คนในพื้นที่
คุณชารอน ดีม แห่งสวนสัตว์เซ็นท์หลุยส์ ในรัฐมิซซูรี่ สหรัฐอเมริกา เชื่อว่าจำเป็นอย่างมากที่ต้องศึกษาว่าอูฐอาจเป็นตัวแพร่โรคระบาดชนิดใดบ้าง เธอบอกว่าตอนที่เริ่มทำการวิจัยด้านโรคในอูฐ เธอแทบไม่มีความรู้เรื่องนี้เลยและจำเป็นต้องอ่านจากหนังสือจำนวนมาก

คุณชารอน ดีม กล่าวว่าเธอกลายเป็นเหมือนผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคในอูฐไปโดยปริยาย และตอนออกการเดินทางไปทำงานภาคสนามครั้งแรกที่เคนยา เธอได้กลายเป็นหนึ่งในสัตวแพทย์รักษาอูฐที่เก่งที่สุดเท่าที่มีอยู่ก็ว่าได้

ความเชี่ยวชาญนี้ช่วยให้คุณดีมได้รับความไว้วางใจจากผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ซึ่งกระตือรือร้นให้คุณดีมไปตรวจสุขภาพอูฐของตน คุณดีมกล่าวว่าเธอเเละทีมงานตัดสินใจเน้นศึกษาโรคในอูฐไม่กี่โรครวมทั้งโรค Q fever

คุณดีมกล่าวว่าสาเหตุที่เลือกศึกษาโรคในอูฐเหล่านี้ก็เพราะว่านอกจากจะสามารถติดต่อถึงคนผ่านการดื่มน้ำนมอูฐที่ไม่ได้รับการฆ่าเชื้อเเล้ว ยังเป็นโรคที่อาจจะเเพร่ไปสู่สัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์ของเคนยาได้ด้วยโดยเฉพาะม้าลายและช้างป่า

คุณดีมทำงานร่วมกันคุณมาร์กาเร็ท คินอาร์ด และผู้เลี้ยงอูฐในเคนยาเพื่อทำการตรวจเช็คสุขภาพของอูญจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบตัวในช่วงระยะเวลาสองปีติดต่อกัน

คุณดีมกล่าวว่าทีมงานทำการเก็บตัวอย่างเลือด อุจจาระ และตัวอย่างเห็บที่ดูดเลือดอูฐ ผลการตรวจโรคพบว่าราวหนึ่งในสามของจำนวนอูฐที่ศึกษาและมากกว่าครึ่งหนึ่งของตัวอย่างตัวเห็บมีเชื้อโรค Q fever ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเป็นโรคที่อาจจะทำให้คนเสียชีวิตได้

คุณชารอน ดีม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคในอูฐกล่าวว่าเธอเชื่อว่าโรค Q feverในอูฐจะเป็นโรคที่ต้องจับตามองเพราะอาจทำให้คนเเละสัตว์ในพื้นที่เสี่ยงต่อโรคได้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าในขั้นต่อไป ทางทีมงานจะทำการศึกษาโรค Q fever ในแนวลึกเพื่อดูว่าโรคนี้มีผลกระทบต่อปศุสัตว์ ผู้คนและสัตว์ป่าในพื้นที่อย่างไร ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันกล่าวปิดท้ายรายงายงานของ ผู้สื่อข่าววีโอเอว่าเธอยังจะทำงานวิจัยนี้ร่วมกันกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ชาวเคนยาต่อไปเพื่อสร้างเเนวทางพื้นฐานในการดูแลอูฐให้เเข็งเเรงโดยเรียกแนวทางนี้ว่า ‘อูฐ 101’
XS
SM
MD
LG