ลิ้งค์เชื่อมต่อ

10% of World’s Drugs are Fake - 2003-12-25


เรื่องของยาปลอม

องค์การอนามัยโลกประกาศการรณรงค์ต่อต้านการผลิตและการค้ายาปลอมและยาที่ไม่ได้มาตรฐานในหกประเทศในเอเชียออกมาเมื่อเร็วๆนี้ ประเทศทั้งหกนั้น คือกัมพูชา เมี้ยนม่าหรือพม่า ลาว เวียดนาม ประเทศไทย และจีน ดร.บูดิโอโน่ ซันโตโซ่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางด้านเภสัชภัณฑ์ในภูมิภาคขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ยาที่ปลอมแปลงกันมากที่สุดนั้น มียาปฏิชีวนะ ยาสำหรับบำบัดวัณโรค และไข้จับสั่นหรือมาเลเรีย และยาบำบัดอาการโรคเอดส รวมอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกยกสถิติเรื่องผู้ป่วยเป็นไข้จับสั่นมาให้เห็นเป็นตัวอย่างเกี่ยวกับผลของการใช้ยาปลอมว่า ในแต่ละปีมีผู้ที่ป่วยเป็นไข้จับสั่น และเสียชีวิตราวๆหนึ่งล้านคน ประมาณสองแสนคนในจำนวนนี้ เสียชีวิตเพราะรับประทานยาปลอม

องค์การอาหารและยาของสหรัฐประมาณไว้ว่า อุตสาหกรรมผลิตยาปลอมในโลกมีขนาดใหญ่มาก โดยมียอดขายคิดเป็นมูลค่ามากกว่าสามหมื่นสองพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และว่า มากกว่า 10% ของยาในตลาดโลก ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นยาปลอมหรือยาที่ไม่ได้มาตรฐาน และการสำรวจขององค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า ยาที่วางขายในประเทศไทยเวลานี้ ราวๆ 8.5% เป็นยาไม่ได้มาตรฐาน 8% ในเวียดนาม และ 16% ในพม่า

เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก บอกว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะแยกแยะระหว่างยาดีกับยาปลอม ส่วนองค์การอาหารและยาของสหรัฐเตือนว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยาปลอมอาจเกิดอาการข้างเคียง มีอาการแพ้ยา หรืออาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่เป็นอยู่กลับทรุดลง ทั้งนี้เพราะยาปลอมและยาที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น ใช้ส่วนผสมที่ผิดพลาด หรือไม่ครบตามสูตรกำหนด ส่วนการติดตามสืบสวนเพื่อระบุว่าใครเป็นผู้ผลิตก็ทำไม่ได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ในอดีตอินเดียเคยยอมรับว่าเป็นแหล่งผลิตยาปลอม

และในขณะที่คนยากจนในประเทศกำลังพัฒนาแสวงหายาราคาถูก ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ผู้ผลิตยาปลอมฉวยโอกาสหาประโยชน์ส่วนตนได้แล้ว ประเทศกำลังพัฒนายังมีอีกจุดอ่อนหนึ่งตรงที่ไม่มีกฎหมายปราบปรามที่เข้มงวด มีการควบคุมไม่พอ และมีการขายยาโดยไม่จำกัดแหล่งขาย แต่ประเทศที่ร่ำรวยก็ประสบปัญหายาปลอมกับเขาเหมือนกัน แตกต่างกันตรงที่ยาปลอมในประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นยาใหม่ ราคาแพงที่ใช้ควบคู่กับแนวทางการใช้ชีวิต อย่างเช่น ไวแอกร้า ฮอร์โมน สตีรอยด์ และยาแก้อาการภูมิแพ้

ความมุ่งหมายขององค์การอนามัยโลกที่ประกาศการรณรงค์ออกมาให้เป็นข่าวก็เพื่อเรียกร้องความสนใจของผู้บริหารงานของประเทศต่างๆ ส่วนมาตรการต่างๆที่คาดว่าจะนำมาใช้นั้น จะมีการปราบปราม การจำกัดการผลิต การให้การศึกษาแก่ประชาชน การตรวจสอบยา และการสำรวจตรวจตลาดรวมอยู่ด้วย

นอกจากจะต้องวิตกกังวลกับปัญหาเรื่องยาเสพติดผิดกฎหมายแล้ว เดี๋ยวนี้ ยังจะต้องวิตกกังวลกับปัญหายารักษาโรคที่คิดว่าถูกกฎหมายกันอีกด้วย!

นิตยา มาพึ่งพงศ์
VOA ภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน

XS
SM
MD
LG