ลิ้งค์เชื่อมต่อ

The UN, U.S. and Iraq - 2003-12-24


สหประชาชาติ สหรัฐ อิรัค และองค์การการค้าโลก

ข่าวใหญ่ในสัปดาห์นี้ หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็ต้องว่า ในช่วงสองสัปดาห์มานี้คือองค์การสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวเนื่อง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การประชุมขององค์การการค้าโลก หรือ World Trade Organization (WTO) ซึ่งเรียกกันว่าการเจรจารอบโดฮา ที่เมืองแคนคูน ในประเทศเมกซิโก ประสบความล้มเหลว และยังไม่มีวี่แววว่าแต่ละฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน จะสามารถลดความแตกต่างนั้นได้ องค์การการค้าโลกเป็นองค์กรที่สืบเนื่องต่อมาจากข้อตกลงทั่วไปในเรื่องการค้าและภาษี ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติทำไว้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อให้เป็นที่ประชุมที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะได้ร่วมกันหาทางทำให้การค้าระหว่างประเทศ เป็นการค้าที่เสรี และยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรโลกได้

ในขณะที่ประเทศสมาชิกของ WTO จะต้องกลับไปทำการบ้านกันอีกอย่างหนักเพื่อเตรียมตัวกลับมาเจรจากันต่อไปอีก องค์การสหประชาชาติเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปีที่นครนิวยอร์ค และบรรดาสมาชิกพบว่ามีการบ้านชิ้นใหญ่รออยู่แล้ว

ประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐไปกล่าวปราศรัยเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าไปมีบทบาทร่วมมากขึ้นในการฟื้นฟูบูรณะอิรัค ประธานาธิบดีบุชกล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ก่อนหน้านั้นว่า ไม่รู้สึกว่าต้องขอโทษขอโพยผู้ใดในการตัดสินใจรุกรานอิรัค แม้จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากสหประชาชาติก็ตาม ในคำปราศัยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ ประธานาธิบดีของสหรัฐเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติหันความสนใจมาร่วมกันทำงาน และก้าวหน้าต่อไปด้วยกัน ตีความออกมาเป็นภาษาชาวบ้าน สหรัฐต้องการให้ประเทศอื่นๆร่วมบริจาคค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูบูรณะอิรัค และส่งทหารไปทำงานรักษาความมั่นคงในอิรัค โดยให้อยู่ใต้การบังคับบัญชาของทหารอเมริกัน

มีอยู่สองคนขณะนี้ที่ตำหนิสหรัฐในที่ประชุมสหประชาชาติในเรื่องอิรัค คือประธานาธิบดีจ๊าคส์ ชิรัคของฝรั่งเศส และเลขาธิการโคฟี่ แอนนันของสหประชาชาติ ในขณะที่ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสกล่าวว่า การตัดสินใจของสหรัฐที่จะโค่นล้มประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนของอิรัค ทำให้องค์การสหประชาชาติตกอยู่ในสภาพวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ขององค์กรระหว่างประเทศองค์กรนี้ และว่า คณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติควรเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ เลขาธิการโคฟี่ แอนนันนั้นกล่าวว่า ข้ออ้างของสหรัฐในการตัดสินใจโดยไม่รอให้คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติทำความตกลงกันให้ได้ก่อนที่ว่า “รัฐสงวนสิทธิ์ที่จะปฏิบัติการโดยลำพัง หรือโดยอาศัยแนวร่วมที่จัดตั้งกันขึ้นตามสถานการณ์” นั้น เป็นการท้าทายต่ออุดมการณ์ของสหประชาชาติ ซึ่งแม้จะไม่ดีพร้อมหมดทุกอย่าง แต่ก็เป็นหลักที่สันติภาพและเสถียรภาพของโลกพักพิงมาเป็นเวลา 58 ปีแล้ว

เป็นที่คาดว่า สมาชิกของสหประชาชาติจะมีมติบางอย่างในเรื่องอิรัคออกมา แม้จะยังมีความไม่พอใจสหรัฐอยู่บ้างก็ตาม แต่ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีแสงสว่างสักเล็กน้อยเป็นการให้กำลังใจเลยก็คือ การเจรจาการค้าโลกที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะอาศัยการค้าลดความยากจน และยกมาตรฐานการครองชีพของประชากรโลก

นิตยา มาพึ่งพงศ์
VOA วอชิงตัน

XS
SM
MD
LG