ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิทยาการก้าวหน้ากับประเพณีนิยม<BR>TECHNOLOGY AND TRADITION - 2003-09-09


สมัยนี้การใช้อัลตร้าซาวนด์เพื่อตรวจดูสุขภาพของทารกที่อยู่ครรภ์มารดาเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้นตามประเทศต่างๆ แม้กระทั่งประเทศที่กำลังพัฒนา เทคโนโลยีนี้ช่วยให้แพทย์ประเมินสุขภาพของทารกก่อนเกิดได้เป็นอย่างดี อัลตร้าซาวนด์เป็นการตรวจสอบที่ใช้คลื่นเสียงไม่เป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารก แต่ในประเทศอินเดีย เหตุผลสำหรับการใช้เทคโนโลยีนี้แตกต่างไปจากเหตุผลทางการแพทย์ สตรีเป็นจำนวนไม่น้อยไปรับการตรวจสอบในลักษณะนี้เพราะต้องการจะรู้ว่า บุตรในครรภ์จะเป็นหญิงหรือชาย และถ้าเป็นผู้หญิงก็จะให้แพทย์ทำแท้ง ผู้หญิงอินเดียที่ทำเช่นนี้ ไม่จำกัดชนชั้นทางสังคมหรือเศรษฐกิจ เพราะประเพณีนิยมที่ต้องการลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิงยังผูกมัดความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทุกระดับในสังคมนี้ การอยากมีลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิงไม่ใช่เรื่องใหม่ ในหลายสังคมมีความนิยมเช่นนั้นเนื่องด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าลูกชายจะเป็นผู้ดูแลบิดามารดาที่ชราลง และเมื่อเติบโตจนถึงวัยที่จะมีครอบครัวของตนเองได้แล้ว ครอบครัวที่มีลูกผู้ชายจะเป็นฝ่ายที่เรียกร้องและได้รับสินสอดทองหมั้น หรือว่าลูกผู้ชายเท่านั้นที่จะเป็นผู้สืบสกุลต่อไปได้ เพราะลูกผู้หญิงเมื่อเติบโตแต่งงานแล้วก็ต้องไปใช้นามสกุลของสามี ประเพณีนิยมดังกล่าวบวกกับการมีเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างอัลตร้าซาวนด์ให้ใช้ แสดงผลกระทบให้เห็นในการสำรวจสำมโนประชากรของอินเดีย อย่างน้อยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อัตราส่วนระหว่างเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายในอินเดียเปลี่ยนไปมาก ตามปกติ อัตราส่วนระหว่างเด็กหญิงกับเด็กชายที่ถือเป็นระดับสากลนั้น จะเป็นเด็กผู้หญิงระหว่าง 950 ถึง 955 คนต่อเด็กผู้ชายหนึ่งพันคน แต่ในอินเดีย ในช่วงระหว่างปีค.ศ. 1991 - 2001 อัตราส่วนดังกล่าวเปลี่ยนไป โดยจำนวนเด็กผู้หญิงลดลงไปเหลือ 850 หรือ 800 ในบางเขตการปกครองนั้น ตัวเลขของเด็กผู้หญิงลดลงไปต่ำกว่า 800 ด้วยซ้ำไป กฎหมายของอินเดียอนุญาตให้ทำแท้งได้ในบางกรณี แต่จะใช้เหตุผลเรื่องเพศของทารกในครรภ์มาเป็นข้ออ้างในการทำแท้งไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีคนปฏิบัติตามกฎหมายนี้ เจ้าหน้าที่ของกองทุนประชากรขององค์การสหประชาชาติบอกว่า ไม่มีตัวเลขที่สำรวจยืนยันได้อย่างเป็นทางการ แต่หลักฐานที่มาจากการรับฟังส่อให้เห็นว่ามีการทำแท้งประมาณหกล้านรายต่อปีในอินเดีย เพราะบิดามารดาต้องการลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิงตัวเลขที่ประมาณออกมานี้มาจากทุกระดับชั้นของสังคม สำหรับครอบครัวที่ไม่สามารถรับการตรวจสอบโดยใช้อัลตร้าซาวนด์ได้ การทำลายชีวิตเด็กผู้หญิงเกิดใหม่ที่อายุสัก 7 - 10 วัน ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จริงแล้ว เรื่องอยากจะมีลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิงไม่เป็นเรื่องเฉพาะสำหรับอินเดีย แต่ที่ยกมาเล่าให้ฟังก็เพราะมีตัวเลขยืนยัน อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าที่ผู้หญิงเรียกร้องอยากจะมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ก็เพราะมีการกีดกันผู้หญิงกันมาตั้งแต่ยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำไป และถ้าเหลียวหน้าแลหลังดูกันให้ดีแล้ว ลูกผู้หญิงที่ดูแลพ่อแม่ยามชรา ไม่ได้มีน้อยไปกว่าลูกผู้ชาย ส่วนเหตุผลในเรื่องการสืบสกุลนั้น สมัยนี้นอกจากจะมีอัลตร้าซาวนด์ให้ใช้แล้ว ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วในหลายประเทศก็ยังสามารถจะใช้นามสกุลของตนต่อไปได้ด้วย

นิตยา มาพึ่งพงศ์ วีโอเอ ภาคภาษาไทย วอชิงตัน

XS
SM
MD
LG